ปตท.จับมือสแกนเนียสยามจัดสัมมนาใช้เอทานอล ลดนำเข้าน้ำมัน ผลักดันเกษตรกรไทยยั่งยืน
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ร่วมกับ บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด จัดการสัมมนาหัวข้อเรื่อง “Solutions for Sustainable Transport” ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้และประสบการณ์จริงในการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงเอทานอลกับเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยการอัด (compression ignition engines) ในภาคการขนส่ง
นายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับความร่วมมือจาก สแกนเนีย สยาม ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ ปตท. ร่วมดำเนิน ”โครงการสาธิตการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง” เมื่อต้นปี 2554 โดยการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายรัฐ และการวางแผนธุรกิจของภาคเอกชน ตลอดจนเป็นการสนองนโยบายรัฐภายใต้แผนพลังงานทดแทน 15 ปี ซึ่งส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงเอทานอลในสัดส่วนที่มากขึ้น หรือประมาณ 9 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2565 เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมไทยอีกทางหนึ่งด้วย
นายวิชัย จิราธิยุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตเอทานอลประมาณ 9 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับปริมาณการใช้ในภาคการขนส่งปัจจุบันประมาณ 1.3 ล้านลิตรต่อวัน จึงควรส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเอทานอลที่ผลิตได้ โดยเฉพาะในภาคการขนส่งที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล ร้อยละ 60 ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคการขนส่งทั้งหมด ดังเห็นได้จากตัวอย่างในประเทศสวีเดน ที่บริษัท Scania CV AB ได้พัฒนาเครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยการอัดและใช้เชื้อเพลิงเอทานอลในอัตราส่วน ร้อยละ 95 ผสมกับสารเติมแต่ง ร้อยละ 5 และเรียกเชื้อเพลิงชนิดนี้ว่า “ED 95” โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน เครื่องยนต์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาจนผ่านมาตรฐาน EEV (Enhanced Environmentally -Friendly Vehicles) ในยุโรป ซึ่งกำหนดมาตรฐานมลพิษไอเสียเข้มงวดกว่ามาตรฐานมลพิษไอเสีย EURO 5
ทั้งนี้ Scania Siam ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Scania CV AB ประเทศสวีเดน ได้ร่วมมือกับ ปตท. ในการเผยแพร่ข้อมูลการใช้เชื้อเพลิง ED95 กับรถโดยสารขนาดใหญ่ในกรุงสต็อคโฮล์ม ตลอดจนมาตรการต่างๆของเทศบาลกรุงสต็อคโฮล์มที่ให้การสนับสนุนและเชิญชวนให้ผู้ประกอบการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น เพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจกต่อชั้นบรรยากาศโลก