พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ในฐานะประธานกรรมการ ทอท. ทำป่วน หลังประกาศว่าสัญญากิจกรรมเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาดำเนินธุรกิจอยู่ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิเป็น "โมฆะ" สร้างความสับสน ปั่นป่วน ส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อภาคธุรกิจเอกชน
หลังจาก พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ออกมาประกาศต่อสาธารณะว่า ผลการประชุมคณะกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานไทย เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2550 มีมติ ให้สัญญาที่ ทอท. ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทั้งในส่วนของ สัญญาดำเนินการร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัญญากิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็น "โมฆะ" เนื่องจากทั้ง 2 สัญญา มีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่กลับมิได้ดำเนินการตามกรอบที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) |
. |
ผลพวงที่ติดตามมา นอกจากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับรายได้และผลประกอบการของทั้ง ทอท. และคิง เพาเวอร์ รวมถึงความสับสน ปั่นป่วน ของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาดำเนินธุรกิจอยู่ในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อภาคธุรกิจเอกชนพอสมควรโดยเฉพาะกลุ่มเอกชนที่ทำกิจการร่วมลงทุนหรือรับสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐอยู่ในขณะนี้ว่า จะเผชิญการตรวจสอบ และนำไปสู่การยกเลิกสัญญา หรือสัญญาเป็นโมฆะ เหมือนกับกรณีของคิง เพาเวอร์ หรือไม่เพราะจากคำแถลงของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กรรมการ ทอท. ระบุว่า ยังคงมีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่าจะไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของ ทอท.อีกจำนวน 58 รายการ |
. |
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่าสัญญาการให้เอกชนเข้ามาบริหาร ดำเนินการเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์เป็นคู่สัญญาดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หรือสัญญาให้เอกชนเข้ามาบริหาร ดำเนินการธุรกิจโรงแรมในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็อยู่ในข่ายที่กำลังถูกตรวจสอบและอาจจะปฏิบัติไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2535 ด้วยเช่นเดียวกัน |
. |
สิ่งที่กลายเป็นภาพต่อเนื่องและสร้างความกังวลแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนก็คือ แนวทางที่รัฐบาล หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ประสานกับคณะกรรมการตรวจ สอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบ จัดระเบียบ หรือรื้อสัญญาสัมปทานที่รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น นับจากกรณีบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนสัมปทาน ต่อมาก็เป็นกรณีของบริษัทคิง เพาเวอร์ |
. |
โดยเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ก็คือ พ.ร.บ. ร่วมทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามในการหลบเลี่ยง หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีกระบวนการที่จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าสัญญาการร่วมทุนของเอกชนแต่ละ รายมีปัญหา หรือขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนในประเด็น ใดบ้าง |
. |
ซึ่งนอกจากกรณีของสัญญาระหว่าง ทอท.- คิง เพาเวอร์ แล้ว ความเคลื่อนไหวในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กำลังมุ่งไปที่การดำเนินการตรวจสอบสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม และพบการแก้ไขในหลายสัญญาที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่กำหนดว่าการตกลงทำสัญญา การแก้ไขหรือการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) |
. |
ล่าสุดกระทรวงไอซีทีส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาการแก้ไขสัญญาสัมปทาน รวม 4 เรื่อง ได้แก่ 1.สัญญาดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กับ บมจ.ทีโอที 2.สัญญาบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือแทค 3.สัญญาโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญา ระหว่าง กสทฯกับแทคให้บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (WCS) ซึ่งต่อมาทำให้เกิดสัญญาสัมปทานของบริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน หรือดีพีซี |
. |
และ 4.กรณีสัญญาดาวเทียมของ บมจ.ชิน แซทเทลไลท์ ส่งให้กฤษฎีกาตีความว่า คู่สัญญาของรัฐทำผิดกฎหมายหรือไม่ คือการไม่มีดาวเทียมสำรองตามที่สัญญากำหนดไว้ และการที่ชิน แซทเทลไลท์ ได้รับค่าสินไหมชดเชยจำนวน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ จากกรณีดาวเทียมไทยคม 3 มีปัญหา แต่กลับไม่มีการส่งเงินค่าสินไหมเข้าคลังตามระเบียบของกระทรวงการคลัง รวมถึง การแก้ไขสัญญาที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของ ครม. |
. |
ที่มา : มติชน |