IHL ฉกโอกาสอุตฯ ยานยนต์โตอีกรอบหลังพ้นวิกฤติสึนามิ เร่งสร้าง 7 โรงงานหวังรองรับออร์เดอร์ค่ายรถยุโรป
นายองอาจ ดำรงสกุลวงษ์
ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ
บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน)
IHL ฉกโอกาสอุตฯ ยานยนต์โตอีกรอบหลังพ้นวิกฤติสึนามิ เร่งสร้าง 7 โรงงานหวังรองรับออร์เดอร์ค่ายรถยุโรป
“องอาจ ดำรงสกุลวงษ์” เผยธุรกิจเบาะหนังรถยนต์ ของ IHL ยังขยายตัวดีตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กลับมาเติบโตรอบใหม่ หลังผ่านพ้นวิกฤติสึนามิ มั่นใจครึ่งปีหลังปั๊มรายได้สุดลิ่ม หนุนผลงานทั้งปีโตเข้าเป้าสำเร็จ พร้อมเดินหน้าเร่งสร้างโรงงานแห่งที่ 7 หลังคืบหน้าแล้ว 60% หวังรองรับลูกค้าโซนยุโรป ที่ทั้งเพิ่มรายได้และกระจายความเสี่ยง ขณะที่โบรกฯมองบวกรับอานิสงส์โตโยต้าเดินเครื่องผลิตรอบใหม่ ให้ราคาเป้าหมาย 12 บ.
นายองอาจ ดำรงสกุลวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) หรือ IHL ผู้ประกอบการธุรกิจเบาะหนังรถยนต์รายใหญ่ในประเทศ เปิดเผยว่าธุรกิจเบาะหนังรถยนต์ยังขยายตัวได้ดีตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโต โดยปัจจุบันค่ายรถยนต์โตโยต้า ซึ่งเป็นค่ายผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ได้ประกาศเดินหน้าผลิตได้ตามปกติ หลังจากที่หยุดการผลิตไประยะหนึ่งจากผลกระทบพิบัติภัยสึนามิ จึงสะท้อนให้เห็นคำสั่งซื้อสินค้าของบริษัทฯ กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นอีกครั้ง
ปัจจุบันบริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังผลิต 2.5 ล้านฟุตต่อเดือน หรือประมาณ 30 ล้านฟุตต่อปี จากโรงงานผลิตรวม 6 แห่ง และยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 7 ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 60 และคาดว่าจะดำเนินการสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ประมาณไตรมาส 2/2555 ส่งผลให้กำลังผลิตรวมของบริษัทฯ เพิ่มเป็นเท่าตัวที่ประมาณ 60 ล้านฟุตต่อปี รองรับคำสั่งซื้อใหม่ๆ โดยเฉพาะจากค่ายรถยนต์ยุโรปที่ตลาดมีการเติบโตอย่างมากได้อย่างคล่องตัว
“บริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายรถยนต์รายใหม่ในแถบประเทศยุโรป 1 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณปลายปีนี้ และหากได้รับคำสั่งซื้อดังกล่าวจะผลักดันให้ยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันสามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้ดีขึ้น เนื่องจากตลาดหลักจะไม่ได้กระจุกอยู่แต่เพียงค่ายรถญี่ปุ่นเท่านั้น” นายองอาจกล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯ ผลิตเบาะหนังป้อนให้กับค่ายรถยนต์ฮอนด้า นิสสัน มาสด้า ฟอร์ด มิตซูบิชิ และจีเอ็ม โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายให้ค่ายรถยนต์ในประเทศ สัดส่วนร้อยละ 70 ขณะที่อีกร้อยละ 30 ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย ซึ่งหากโรงงานแห่งที่ 7 พร้อมผลิตเต็มรูปแบบ บริษัทฯ มีแผนปรับสัดส่วนการส่งออกเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ส่วนในประเทศที่ร้อยละ 50
นายองอาจ กล่าวต่อถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2554 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2554)ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 461.08 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 58.72 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.20 บาท ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ที่มีกำไรสุทธิ 54.26 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 จะพบว่าผลประกอบการลดลง เนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 1/2553 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตแบบผิดปกติ หลังจากที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวทำให้ออเดอร์ไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันนี้ถือได้ว่าธุรกิจเข้าสู่สภาวะเติบโตตามปกติแล้ว เชื่อว่าจะสะท้อนให้ผลประกอบการครึ่งปีหลังของบริษัทฯ ขยายตัว ตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะผลักดันให้ผลประกอบการทั้งปีเติบโตร้อยละ 10 – 15 จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,847.83 ล้านบาท.ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
“กรณีโตโยต้าประกาศชะลอการผลิตรถยนต์ รวมถึงภัยสึนามิที่เกิดขึ้นส่งผลให้คำสั่งซื้อเบาะหนังรถยนต์ของบริษัทฯ ชะลอตัวลง แต่จากการปรับตัวรองรับมาโดยตลอด ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และขณะนี้คำสั่งซื้อต่างๆ กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ฉะนั้นผู้ถือหุ้นไม่ต้องกังวล เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และแน่นอนว่าผลประกอบการครึ่งปีหลังจะสนับสนุนให้ผลประกอบการทั้งปีเติบโตร้อยละ 10 – 15 ตามเป้าหมายได้” นายองอาจ กล่าว
ทั้งนี้ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงผู้ประกอบการในธุรกิจยานยนต์ว่า จากที่โตโยต้าที่ประเทศญี่ปุ่นเตรียมฟื้นกำลังการผลิตสู่ระดับ 90% ของการผลิตในระดับปกติตั้งแต่เดือน มิ.ย. จะ ช่วยยืนยันถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก ดังนั้นฝ่ายวิเคราะห์ยังคงประเมินว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยจะฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในครึ่งปีหลังของปี 2554 จึงแนะนำน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์เป็น “มากกว่าตลาด” โดยแนะนำ “ซื้อ” หุ้นทุกตัวในกลุ่มฯ โดย IHL ให้ราคาเป้าหมายที่ 12.00 บาท