เนื้อหาวันที่ : 2011-06-09 17:48:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2913 views

สภาหอการค้าฯ ชี้ทางออกปัญหาท่าเรือแออัด

สภาหอการค้าฯ ชี้การปิดซ่อมรางปั้นจั่นของท่าเรือกรุงเทพ กระทบผู้ประกอบการ ส่งสินค้าไม่ทัน ต้นทุนบริหารเรือพุ่ง จี้วางแผนการรับเรือเทียบท่า และการปิดซ่อมใหม่

          สภาหอการค้าฯ ชี้การปิดซ่อมรางปั้นจั่นของท่าเรือกรุงเทพ กระทบผู้ประกอบการ ส่งสินค้าไม่ทัน ต้นทุนบริหารเรือพุ่ง จี้วางแผนการรับเรือเทียบท่า และการปิดซ่อมใหม่

          นายภาณุมาศ ศรีศุข ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้งดให้บริการท่าเทียบเรือบางส่วนที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อทำการปิดซ่อมรางปั้นจั่นยกตู้สินค้า (Gantry Crane) บริเวณหน้าท่า การปรับปรุงนี้ จะใช้เวลา 2 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา

          โดยท่าบริการตู้สินค้า 1 ซึ่งมีท่าเทียบเรือ 4 ท่า ปัจจุบันใช้ได้ 2 ท่า เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมรางเครน และทดสอบ Gantry Crane ที่เพิ่งติดตั้ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ 100% ประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้

          ท่าบริการตู้สินค้า 2 มีท่าเทียบเรือ 3 ท่า ปัจจุบันใช้ได้ 2 ท่า เนื่องจาก Crane เสีย อยู่ระหว่างการรออะไหล่จากต่างประเทศ และในระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – กรกฎาคม 2555 จะปิดปรับปรุงทีละท่า ใช้เวลาท่าละ 3 เดือน เป็นเวลาโดยรวมประมาณ 1 ปี

          ดังนั้น ในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 – กรกฎาคม 2555 จะเปิดให้ใช้บริการรวมทั้ง 2 ท่าบริการตู้สินค้าได้เพียง 6 ท่า และคาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ครบสมบูรณ์ทั้ง 7 ท่าอีกครั้งได้ภายในสิ้นปี 2555 นอกจากนี้ จะดำเนินการปรับปรุงลานพักตู้สินค้าหมายเลข 2 เป็นเวลา 10 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 เป็นต้นไป

          นายภาณุมาศ กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อเรือสินค้า ที่จะต้องใช้บริการท่าเทียบเรือของท่าเรือกรุงเทพเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรือสินค้าต้องจอดรอเพื่อเทียบท่าประมาณ 3–4 วัน ทำให้ผู้ประกอบการจากหลายองค์กร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ แห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย และสมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ ได้ร่วมหารือ เพื่อสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางแก้ไข ดังต่อไปนี้ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากปัญหาความแออัดที่ท่าเรือกรุงเทพ

          1. บริษัทเรือไม่สามารถขนส่งสินค้าไปถ่ายลำให้เรือแม่ (Mother Vessel) ในท่าเรืออื่นในต่างประเทศได้ทันตามกำหนดเวลา และตู้สินค้าบางตู้ต้องถ่ายลำเพื่อไปต่อกับสายเรืออื่น เป็นผลให้ส่งตู้สินค้าไม่ทันกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่า 7 วัน ทำให้ต้องรับภาระต้นทุนการบริหารเรือที่เพิ่มขึ้น ดังนี้ จากจำนวนเรือที่เข้าท่าเรือกรุงเทพ 200 ลำ/เดือน คิดเป็นค่าเสียเวลาเรือ ~ 480 ล้านบาท/เดือน ค่าน้ำมันส่วนเพิ่มเนื่องจากต้องเร่งความเร็วในการไปถึงที่หมาย 10-20% ~ 163 ล้านบาท/เดือน ค่าฝากตู้สินค้าขาออก (Storage) ในท่าเรือ ~ 36 ล้านบาท/เดือน

          2. ผู้นำเข้า-ผู้ส่งออก
          รับภาระค่า Bangkok Port Congestion Surcharge USD 50/ตู้ 20 ฟุต และ USD 100/ตู้ 40 ฟุต สำหรับตู้สินค้าขาเข้าและขาออกที่ท่าเรือในกรุงเทพทุกแห่ง คิดเป็นค่าใช้จ่าย ~ 215 ล้านบาท/เดือน อาจถูกผู้ซื้อสินค้าปลายทางปฏิเสธการรับสินค้า เนื่องจากสินค้าถึงไม่ตรงตามกำหนด ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ที่ต้องเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางอากาศแทน

สินค้าประเภทเน่าเสียง่าย (Perishable) อาจด้อยคุณภาพลง เช่น ผัก ผลไม้ และสินค้าแช่เย็นต่างๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางอากาศ สำหรับสินค้าตู้เย็น (Reefer) ขาออกที่ต้องไปใช้ท่าเรือ หรือ ICD ของเอกชนข้างนอก จะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ~ 3,000 บาท/ตู้ สินค้านำเข้าที่ใช้ท่าเรือกรุงเทพจำนวนมาก ประสบปัญหาที่ใช้เวลานานในการหาตู้สินค้า เนื่องจากตู้ถูกนำไปวางกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ

          คณะผู้แทนของภาคเอกชน นำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบปลัดกระทรวงคมนาคมเพื่อชี้แจงประเด็นปัญหา ตลอดจนร่วมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากปลัดฯ และผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือฯ จนได้ข้อสรุป ดังนี้

          1. ให้การท่าเรือฯ และผู้ประกอบการเรือไปหารือเพื่อวางแผนกำหนดการรับเรือเข้าเทียบท่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 – กรกฎาคม 2555 ที่ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ท่าเทียบเรือได้เพียง 6 ท่า
โดยให้วางแผนการรับเรือเข้าเทียบท่าเป็นรายเดือน

          2. ให้การท่าเรือฯ และผู้ประกอบการเรือ ตรวจสอบความสามารถของ Gantry Crane อีกครั้ง เนื่องจากข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ตรงกัน นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบด้วยว่า จำนวนรถหัวลาก 140 คันที่การท่าเรือฯ

          จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอกับความต้องการในการใช้งานหรือไม่ อีกทั้งให้ปรับปรุงระบบการบริหารการใช้รถหัวลากให้มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มที่

          อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงคมนาคมจะเรียกประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยคณะผู้แทนของภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะอื่นๆ ดังต่อไปนี้

          1. ขอให้การท่าเรือฯ พิจารณาเปลี่ยนการจัดสรรให้เรือเข้าเทียบท่าเป็นระบบ Fixed Window
          เป็นรายเดือน แทนระบบ First Come First Serve (เรือลำไหนมาก่อนได้เข้าเทียบท่าก่อน) ในปัจจุบัน เพื่อจะได้จัดทำตารางการเทียบท่าของเรือสินค้าล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้การบริหารเวลาในการเทียบท่าและการขนถ่ายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกันกับท่าเรือระดับนานาชาติทั่วไป

          2. การท่าเรือฯ ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบอย่างเป็นทางการ ในเรื่องต่อไปนี้
          การปิดปรับปรุงท่าบริการตู้สินค้า 2 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 – กลางปี 2555 ทำให้เปิดให้บริการได้เพียง 6 ท่า โดยควรระบุว่ามีการเตรียมท่าเรือสำรองไว้ที่ใด สำหรับการปิดปรับปรุงลานพักตู้สินค้า โดยควรระบุว่ามีการเตรียมลานพักตู้สินค้าสำรองไว้ที่ใดบ้าง

          3. พิจารณาขยายเวลา Free Time ในลานพักตู้สินค้า จากปกติ 3 วันเป็น 7 วันในช่วงที่ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ และลานพักตู้สินค้า รวมทั้ง การชดเชยค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ค่าฝากตู้ เป็นต้น (ซึ่งการท่าเรือฯ ได้รับไว้พิจารณาและจะนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารของการท่าเรือฯ พิจารณาต่อไป)

          4. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่า จะปรับลดขนาดของท่าเรือกรุงเทพลงหรือไม่ และเมื่อใด  และปีละเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อลดความแออัดของการจราจรในกรุงเทพฯ และผู้ประกอบการสามารถ ไปเตรียมแนวทางที่จะไปใช้ท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเรือเอกชนอื่นทดแทน