เนื้อหาวันที่ : 2011-06-07 10:23:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1851 views

บีโอไอปลื้ม 5 เดือนเงินลงทุนสะพัดกว่า 2 แสนล้าน

ญี่ปุ่น-จีนทุ่มลงทุนต่อเนื่อง ดันยอดลงทุนต่างชาติโต 64% เอสเอ็มอีไม่น้อยหน้ามูลค่าเงินลงทุนพุ่งทะลุ 500%

 นางอรรชกา สีบุญเรือง
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

          ญี่ปุ่น-จีนทุ่มลงทุนต่อเนื่อง ดันยอดลงทุนต่างชาติโต 64% เอสเอ็มอีไม่น้อยหน้ามูลค่าเงินลงทุนพุ่งทะลุ 500%

          บีโอไอเผย ภาวะลงทุนไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัวทะลุ 2 แสนล้านบาท มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 725 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 208,000 ล้านบาท เกินครึ่งจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดปีที่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีก็มีมูลค่าเงินลงทุนสูงขึ้นถึง 525% ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศขยายตัว 64% โดยญี่ปุ่นยังรักษาแชมป์ลงทุนในไทย

          นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ถึงภาวะการลงทุนในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม 2554) ซึ่งในภาพรวมมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุน โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 725 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 208,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าเกินครึ่งจากเป้าหมายทึ่ตั้งไว้ปีนี้ที่คาดว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้ในส่วนของจำนวนโครงการปรับเพิ่มขึ้นถึง 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 480 โครงการ ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 166,000 ล้านบาท

          สำหรับกลุ่มกิจการที่ได้รับความสนใจสูงสุด เป็น กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 184 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 63,000 ล้านบาท รองมาเป็นกิจการบริการ และสาธารณูปโภค 154 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 42,000 ล้านบาท กิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก จำนวน 99 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 37,000 ล้านบาท และกิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 108 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 28,000 ล้านบาท ตามลำดับ

          “ทิศทางการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 ส่วนหนึ่งนอกจากความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของไทยแล้ว ปัจจัยสำคัญยังเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนมากขึ้น เช่น นโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมในมาตรการดังกล่าวแล้วคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 2,416 ล้านบาท

ในขณะที่นโยบายเพิ่มประเภทและปรับปรุงเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ส่งผลให้มีกิจการเอสเอ็มอียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาแล้วถึง 92 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 178% ในขณะที่มีเงินลงทุนกว่า 3,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 525% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 593 ล้านบาท” นางอรรชกา กล่าว

          นางอรรชกา กล่าวว่า สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มีทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 431 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 141,196 ล้านบาท โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 มีจำนวน 221 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น และมูลค่าลงทุนรวมกว่า 57,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของมูลค่าลงทุนจากต่างชาติ ส่วนใหญ่จะลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

          อันดับสองคือนักลงทุนจากประเทศจีน มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 20,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตยางรถยนต์ลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท

          สำหรับการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา แม้จะมีมูลค่าเงินลงทุนเพียง 3,373 ล้านบาท แต่หากรวมตัวเลขการลงทุนในโครงการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ที่มีการลงทุน 3,191 ล้านบาท และโครงการผลิตรถขุดและรถตักดิน ที่มีมูลค่าลงทุน 4,372 ล้านบาท ที่บริษัทสหรัฐฯ ลงทุนผ่านบริษัทในสิงคโปร์แล้ว จะมีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 10,936 ล้านบาท นับว่าลงทุนมากเป็นอันดับ 3

          ในขณะที่การลงทุนจากสิงคโปร์ มีมูลค่าลงทุนกว่า 10,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตวงจรรวม โครงการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์

          ส่วนการลงทุนจากฮ่องกง มีมูลค่ารวม 10,096 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากน้ำดำ (Black Liquor) โครงการสวนสนุก และโครงการโรงแรม