บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 9 โครงการมูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เน้นต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 9 โครงการมูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เน้นต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
บอร์ด บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุนรวม 9 โครงการ มูลค่ากว่า 20,907 ล้านบาท กิจการปิโตรเคมี มาแรง ผู้ประกอบการแห่ลงทุนเน้นต่อยอดธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้าน “ไทยคูณ เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป” ขยายกิจการผลิตเหล็กแท่ง ป้อนอุตฯไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 9 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 20,907.5 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. บริษัท ไทยคูณ เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเหล็กแท่ง (STEEL BILLET) สำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กลวด และสกรู เช่น เหล็กลวดแรงดึงสูง สลักภัณฑ์ สกรู ตะแกรงลวด ตาข่าย ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น กำลังการผลิตปีละประมาณ 522,720 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,650.4 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง
2. บริษัท สยามกลาสอยุธยา จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตขวดแก้ว สำหรับบรรจุ เครื่องดื่มประเภทต่างๆ เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง กำลังการผลิตปีละประมาณ 104,000 ตัน (หรือประมาณ 700,000,000 ขวด) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,487 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จ.อยุธยา
3. บริษัท ไทย โคะอีโท จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตโคมไฟสำหรับยานพาหนะ (LAMP FOR AUTOMOBILE) กำลังผลิตปีละประมาณ 850,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,119.1 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินตัสเตรียล ปาร์ต 7 จำกัด จ.ปราจีนบุรี
4. นายชลณัฐ ญาณารณพ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,910 ล้านบาท ประกอบด้วย การผลิต ISOPRENE ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางสังเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้ผลิตสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยา น้ำหอม เป็นต้น กำลังการผลิตปีละประมาณ 68,900 ตัน ผลิต PIPERYLENE ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกาวและสี เช่น กาวบนซองจดหมาย เทปกาว แผ่นกาวยึดผ้าอ้อมเด็ก และสีทาถนน เป็นต้น
กำลังการผลิตปีละ ประมาณ 43,700 ตัน และการผลิต DI-CYCLOPENTADIENE (DCPD) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตยางสงเคราะห์ กาว และสี วัสดุเคลือบ หรือใช้เป็นสารเติมแต่ง กำลังการผลิตปีละประมาณ 44,500 ตัน ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง
5.นายชลณัฐ ญาณารณพ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ได้แก่ การผลิต BUTENE -1 เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดพลาสติก HDPE ที่ใช้ผลิตถุงพลาสติก และฟิล์มบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น กำลังการผลิตปีละประมาณ 54,750 ตัน และการผลิต METHYL TERTIARY BUTYL ETHER (MTBE) ซึ่งเป็นสารเติมแต่งในน้ำมันเบนซิน กำลังการผลิตปีละประมาณ 54,750 ตัน เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง
6.บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ได้แก่ PARAXYLENE ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อใช้ผลิตต่อเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดน้ำดื่ม กำลังการผลิตปีละประมาณ 131,000 ตัน และการผลิต BENZENE เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต Styrene Monomer กำลังการผลิตปีละประมาณ 125,000 ตัน เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,395 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมไทยออยล์ จ.ชลบุรี
7.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ได้แก่ สไตรีนโมโนเมอร์ (STYRENE MONOMER) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด PS,ABS กำลังการผลิตปีละประมาณ 60,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,466 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง
8.บริษัท 304 พัลพ์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตเยื่อกระดาษ จากยูคาลิปตัส กำลังการผลิตปีละประมาณ 420,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,070 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.ปราจีนบุรี
9.บริษัท เอ.ที.ไตร อีโคเนอร์ยี (ตาคลี)จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ซึ่งได้จากการหมักน้ำเสียของกระบวนการผลิตเอทานอล กำลังผลิตขนาด 9.36 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 850 ล้านบาท ตั้งที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
ที่มา : บีโอไอ