สศอ.เผยสถานการณ์การส่งออกสินค้าภาคอุตฯ เดือน เม.ย. 2554 ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ขณะที่ยานยนต์หดตัวจากการผลิตที่ลดลง
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 2554 ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ขณะที่ยานยนต์หดตัวจากการผลิตที่ลดลง
สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
การส่งออกในเดือนเมษายน 2554 การส่งออกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญยังมีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สินค้าหมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าในหมวดยานยนต์ฯ หดตัวในเดือนเมษายน 2554 จากการผลิตที่ลดลงทางด้านตลาดส่งออกที่สำคัญขยายตัวดีในหลายตลาด โดยมีตลาดอาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
ในเดือนเมษายน 2554 ไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 17,564.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญพบว่าสินค้าเกษตรขยายตัวดีที่ร้อยละ 43.2 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวร้อยละ 26.9 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 13,135.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งมีมูลค่าการส่งออก 12,410.8ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 27.8
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสำคัญต่างๆ ยังเป็นไปในทิศทางที่ดี ในเดือนเมษายน 2554 การส่งออกไปตลาดอาเซียน(9) ตลาดสหภาพยุโรป(27) ตลาดญี่ปุ่น และตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 30.2, 28.2, 30.6 และ 26.5 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องร้อยละ 22.2 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียหดตัวร้อยละถึงร้อยละ 40.3 จากการส่งออกทองคำแท่ง รวมถึงการส่งออกรถยนต์ฯ ที่หดตัวร้อยละ 89.7 และ 21.1 ตามลำดับ
เม็ดพลาสติก ในเดือน เม.ย. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 763.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ49.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเม็ดพลาสติกขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกไปยังอาเซียน(9) และจีน ที่ปรับขยายตัวถึงร้อยละ 52.3 และ 62.0 ตามลำดับ
สิ่งทอฯ ในเดือน เม.ย. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 653.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าในกลุ่มผ้าผืนและด้ายมีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเดือน เม.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 39.6 จากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน(9) ขยายตัวร้อยละ 54.4 เป็นสำคัญ ในขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 25.4 จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(27) ที่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 23.8 ตามลำดับ
เครื่องใช้ไฟฟ้า ในเดือน เม.ย. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 1,734.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างอาเซียน(9) สหภาพยุโรป(27) ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 27.3, 12.6, 34.8 และ 16.7 ตามลำดับ
เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือน เม.ย. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 2,539.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่มอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 16.5 หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2553 ทั้งนี้การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ไปยังตลาดสำคัญอย่างจีน และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 61.6 ตามลำดับ ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้ามีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 33.9 จากการส่งออกไปยังฮ่องกงและอาเซียนขยายตัวดีร้อยละ 26.9 และ 45.3 ตามลำดับ
ยานยนต์ ในเดือน เม.ย. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 1,460.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าหลักกลุ่มรถยนต์ฯ มีการส่งออกหดตัวเป็นเดือนแรกร้อยละ 13.1 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างอาเซียน(9) และออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 0.9 และ 21.1 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยที่ต้องลดปริมาณการผลิตลง การส่งออกจึงปรับหดตัวในเดือนนี้
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม