เนื้อหาวันที่ : 2011-06-02 11:37:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1116 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 2 มิ.ย. 2554

1. อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 54 สูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.2
-  กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพ.ค. 54 อยู่ที่ 112.4 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.2  เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 0.3 จากเดือนเม.ย. 54 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพ.ค. 54 อยู่ที่ 106.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 0.5 จากเดือนเม.ย. 54 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี (ม.ค.-พ.ค. 54) เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี (ม.ค.- พ.ค. 54) เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 54 จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.2-3.7

-  สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. 54 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 54  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนีในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมถึงค่าจ้างแรงงานและการปรับขึ้นเงินเดือนราชการ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

จากการศึกษา พบว่า หากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 54 จะขยายตัวในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1- 4.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ ณ มี.ค.54)

2. กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.00
-  คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 3.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที พร้อมคาดการณ์ว่าแนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อระยะต่อไปยังสูงขึ้น และเงินเฟ้อพื้นฐานเสี่ยงหลุดเป้าในช่วงไตรมาส 3/54 ถึง ไตรมาส 4/54 แม้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ก่อนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาส 1/55

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเร่งต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. 54 และ เม.ย. 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.1 และ 4.0 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องสะท้อนจาก GDP ในไตรมาสแรกขยายตัวถึงร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 54 จะกลับมาขยายตัวในระดับปกติโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0 ต่อปี

3. อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียล่าสุดชะลอตัวลงอยู่ร้อยละ 5.98
-  สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซีย รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 5.98 ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน เม.ย. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.16 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับลดอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าในเดือน มิ.ย. 54 ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 6.75 ต่อไป

-  สศค. วิเคราะห์ว่าการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. 54 มีสาเหตุจากการปรับลดลงของราคาอาหารที่ระดับร้อยละ 0.07 ทั้งนี้ พบว่าระดับราคาอาหารได้ปรับลดลงติดต่อกัน 4 เดือน สืบเนื่องจากทางการอินโดนีเซียได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมระดับราคาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เช่น การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยรักษาระดับราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและขนส่งสินค้าและการที่ภาครัฐได้เข้มงวดพฤติกรรมการกักตุนสินค้าของภาคเอกชน

ขณะที่ นับตั้งแต่ต้นปี 54 ค่าเงินรูเปียห์ได้ปรับแข็งค่าขึ้นคิดเป็นร้อยละ 5 จึงทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับลดลง ดังนั้น จึงทำให้ธนาคารกลางอินโดเนียเซียคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 6.75 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 ในปี 54 (คาดการณ์ ณ มี.ค.54)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง