MPA นิด้า ติงนโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเน้นประชานิยมหวังผลคะแนนขาดยุทธศาสตร์ด้าน เอสเอ็มอีนิยม ฉุดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก หวั่นสุดท้ายคนไทยตกงาน
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA)
MPA นิด้า ติงนโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเน้นประชานิยมหวังผลคะแนนขาดยุทธศาสตร์ด้าน เอสเอ็มอีนิยม ฉุดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก หวั่นสุดท้ายคนไทยตกงาน
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA ติงนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ขาดยุทธศาสาตร์และนโยบายด้าน “เอสเอ็มอีนิยม” ที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจภาคเอกชน หวั่นการเปิดเสรีทางการค้าในอนาคตจะส่งผลให้ภาคเอกชนไทยสู้ต่างชาติไม่ได้ ฉุดความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของคนไทย-ต่างชาติลดวูบ สุดท้ายคนไทยตกงานล้นเมือง
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงในการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ พบว่า แต่ละพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญกับโครงการประชานิยมเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จนมองข้ามความสำคัญในการจัดทำนโยบายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนไทย เพื่อให้เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐทำหน้าที่เป็นพระเอกในการลงทุนด้วยการกู้ยืมเงินมาลงทุนจนก่อหนี้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ พรรคการเมืองควรมีนโยบาย “เอสเอ็มอีนิยม” ที่กำหนดทิศทางอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทย ให้พร้อมรับมือการเปิดเสรีทางการค้าในอนาคต เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน สินค้าและบริการของประเทศสมาชิกในอาเซียนได้อย่างเสรี เพราะหากผู้ประกอบการไทยไม่มีความเข้มแข็งมากพอ ก็ย่อมจะเสียเปรียบเอกชนจากต่างประเทศที่รุกเข้ามาขยายตลาดสินค้าและบริการในไทยที่นับวันจะมากขึ้นทุกขณะ
“นโยบายของพรรคการเมืองมุ่งเน้นแต่ประชานิยม เพราะต้องการได้คะแนนจากประชาชน แต่ไม่เห็นมีพรรคการเมืองใดมีนโยบายเกี่ยวกับภาคธุรกิจหรือชูนโยบายด้านเอสเอ็มอีนิยมที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทย หรือมีนโยบายที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเอกชนไทยเพื่อรับมือกับการแข่งขันทางการค้าที่นับวันจะรุนแรงขึ้น หลังจากที่เราได้เปิดเสรีทางการค้า หากเรายังปล่อยไปเช่นนี้ อนาคตเอสเอ็มอีของไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ และอาจต้องปรับลดคนงาน ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในที่สุด” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า เชื่อว่าภาคเอกชนคงต้องการเห็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการด้านการเงินว่ามีแนวทางอย่างไร เพื่อเอื้อต่อการสร้างการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่เหมาะสม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการภาษีนิติบุคคล เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนไทยในการขยายธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น
ที่มา : นิด้า