บีโอไอนำทัพธุรกิจไทยเยือน 3 เมืองใหญ่ของพม่า ย่างกุ้ง ทวาย มะริด วางแผนพบนักธุรกิจพม่า กลุ่มเกษตร ประมง และท่าเรือ ก่อนพบหน่วยงานด้านการลงทุนพม่าศึกษาโอกาสขยายทุนไทยเพิ่ม
นางอรรชกา สีบุญเรือง
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
บีโอไอนำทัพธุรกิจไทยเยือน 3 เมืองใหญ่ของพม่า ย่างกุ้ง ทวาย มะริด วางแผนพบนักธุรกิจพม่า กลุ่มเกษตร ประมง และท่าเรือ ก่อนพบหน่วยงานด้านการลงทุนพม่าศึกษาโอกาสขยายทุนไทยเพิ่ม
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5 – 9 กรกฎาคม 2554 บีโอไอร่วมกับศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมนำนักลงทุนไทยไปดูลู่ทางการขยายธุรกิจการลงทุนร่วมกับนักธุรกิจพม่า และพบปะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เมือง ย่างกุ้ง ทวาย และมะริด
การเยือนครั้งนี้ จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมประมงที่เมืองมะริด ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประมงขนาดใหญ่ โดยการเยี่ยมชมบริษัท MYANMAR ANDAMAN PEARLที่ไทยได้ร่วมลงทุนกับพม่าทำฟาร์มเลี้ยงหอยมุกจนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นจะหารือกับบริษัทโรงงานห้องเย็น ท่าเรือ และธุรกิจโรงแรม เพื่อหาเครือข่ายและขยายการลงทุนร่วมกัน
“ นอกจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว พม่ายังมีปัจจัยบวกเรื่องการเป็นตลาดใหญ่และเป็นประตูเชื่อมเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออก นักลงทุนไทยจึงสามารถใช้ประโยชน์นี้ต่อยอดให้ธุรกิจของตัวเอง บีโอไอจึงนำนักลงทุนไทยเข้าไปพบกับสมาชิกสมาพันธ์การค้าและอุตสาหกรรมของสหภาพพม่า เพื่อหารือกฎระเบียบและการขยายธุรกิจร่วมกันต่อไป ” เลขาบีโอไอกล่าว
นอกจากคณะนักธุรกิจไทยจะได้เจรจาธุรกิจกับสมาชิกสมาพันธ์การค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า และร่วมหารือกับเอกอัครราชทูตไทยประจำสหภาพพม่าแล้วยังจะได้พบปะกับสภาหอการค้าเมืองทวาย เยี่ยมชมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และเข้ารับฟังคำบรรยายที่บริษัทอิตาเลียนไทยซึ่งได้รับสัปทานโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการหารือ บีโอไอจะนำไปจัดทำแนวทางเพื่อส่งเสริมเอกชนไทย ให้มีส่วนร่วมพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในทวายต่อไป
ในปี 2553 บีโอไอได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนไทยในพม่าทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้รับการตอบรับจากนักธุรกิจไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี จากภาคธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเกษตรและการแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารเป็นต้น โดยได้เข้าเยี่ยมชมธุรกิจต่าง ๆรวมเกือบ 30 แห่ง ที่สำคัญมีนักลงทุนไทยสนใจและต้องการที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่าด้านเครื่องจักรกลการเกษตร วัสดุก่อสร้าง การรับออกแบบเครื่องจักร เครื่องจักรกลเป็นต้น
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึงปี พ.ศ. 2554 มีนักลงทุนไทยไปลงทุนทั้งสิ้น 61 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 9,568 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2553 ไทยจัดเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าเป็นอันดับ 2 รองจากจีน
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)