เนื้อหาวันที่ : 2011-05-30 10:37:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 909 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 23-27 พ.ค. 2554

          เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยมีสาเหตุหลักจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7  จากไตรมาส 4 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 เนื่องจากมีการลดลงของการผลิต Hard Disk Drive และโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ถือได้ว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.0 (QoQ_SA)

          รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้อปท.) ในเดือน เม.ย. 54 มีจำนวนทั้งสิ้น 127.53 พันล้านบาทต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.0 เนื่องจากปีที่แล้วมีรายได้พิเศษจากการยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีจำนวน 49,016 ล้านบาท ซึ่งหากหักรายการดังกล่าวออกรายได้ในเดือนเม.ย 54 จะสูงกว่าปีก่อนร้อยละ 5.3 และสูงกว่าประมาณการ 16.06 พันล้านบาทหรือร้อยละ 14.4 เปนผลจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ สำหรับภาษีฐานบริโภคขยายตัวร้อยละ 14.3 และภาษีฐานรายได้ซึ่งรวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขยายตัวร้อยละ 17.7  สะท้อนถึงรายได้ประชาชนที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี

          ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน เม.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.7  โดยได้รับปัจจัยบวกจากกำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 57.1 ในเดือนเม.ย. 54  และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ในเดือน มี.ค. 54

          ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน เม.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 55.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยการขยายตัวดังกล่าว เป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายเดือน มี.ค. 53 ที่คาดว่ามาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากอุปสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

          ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน เม.ย. 54 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 139.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน เม.ย. 54 การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 135.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 6.5 จากกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้จำนวน 120.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.9 และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 14.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.1

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน เม.ย. 54 ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 13.3 พันล้านบาท  เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 11.1 พันล้านบาท รายจ่ายงบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 9.3 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 5.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่  20 พ.ค. 54 สามารถเบิกจ่ายสะสมได้ทั้งสิ้นจำนวน 278.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 79.5 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

          ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 54  พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -37.9 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -42.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน -79.9 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 24.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน -55.4 พันล้านบาท

          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,246.1พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 11.3 พันล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 41.3 ของ GDP  ทั้งนี้ การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) โดยลดลงสุทธิ 12.1 และ 0.3 พันล้านบาท ตามลำดับ 

ในขณะที่หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 0.7 พันล้านบาท  สะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคงเนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง