พพ. มั่นใจยกระดับพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานไทย สู่เวทีโลก หลังการประชุมระดับอินเตอร์รุมจัดในไทย 3 งานติดตลอดเดือนมิ.ย.นี้
พพ. มั่นใจยกระดับพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานไทย สู่เวทีโลก หลังการประชุมระดับอินเตอร์รุมจัดในไทย 3 งานติดตลอดเดือนมิ.ย.นี้ ชี้เป็นโอกาสทองประกาศผลงานด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานผ่านเวทีนานาชาติ หวังประสาน ADB เกิดการลงทุนโซล่าร์เซลล์ในภูมิภาค 3,000 เมกะวัตต์ ใน 3 ปี ชูไทยเป็นศูนย์กลางทดสอบวัสดุอาคารที่มีประสิทธิภาพสูง และย้ำการพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ. ) เปิดแถลงข่าว “โอกาสทองพลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน : วาระประเทศไทย สู่เวทีระดับโลก” โดยเป็นการแจ้งข่าวดีให้กับวงการพลังงานของไทย ที่จะมีหน่วยงานระดับนานาชาติ เข้ามาจัดการประชุมด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ถึง 3 งานติดต่อกัน ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน นี้ เพื่อตอกย้ำภาพการยอมรับในระดับนานาชาติที่เห็นถึงการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้บริหารจาก พพ. และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วม
ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า พพ. ได้รับเกียรติในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้คือ
ระหว่างวันที่ 30 – 31 พ.ค. 2554 นี้ จะมีงานประชุม Asia Solar Energy Forum ที่โรงแรมแชงกรีล่าร์ โดยเป็นการประชุมฯ ที่จัดร่วมกันกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานที่สะอาดและไม่มีการขาดแคลน รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนการจัดการองค์ความรู้ด้านพลังานแสงอาทิตย์ระดับนานาชาติ และนำไปสู่การลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันกับไฟฟ้าระบบสายส่งได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่ พพ. ได้ร่วมกับ ADB ที่จะพัฒนา โครงการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิค ซึ่งได้วางเป้าหมายผลิตไว้สูงถึง 3,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งแนวทางพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grid โดยเบื้องต้น ADB วางแผนที่จะสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว โดยมีวงเงินสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ที่จะสนับสนุนในแต่ละโครงการต่อไป
นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ 3 -5 มิ.ย.2554 จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านอาคารประหยัดพลังงาน หรือ “APEC Building Materials and Component Testing and Rating Center Workshop” ซึ่งงานจะมีขึ้นที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ควบคู่ไปกับการจัดงาน Renewable Energy Asia 2011 โดยถือเป็นอีกงานที่น่าภาคภูมิใจของไทย เนื่องจากกระทรวงพลังงานจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักครั้งนี้ ได้เลือกให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และตอกย้ำภาพความสำเร็จของการอนุรักษ์พลังงานของไทยอีกด้วย รวมทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งหน่วยงานประสิทธิภาพพลังงานของกรอบอาคาร ที่ไทยพร้อมจะเป็นศูนย์กลางในการกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานการทดสอบค่าประสิทธิภาพพลังงาน ของวัสดุต่างๆ ที่ใช้เป็นโครงสร้างกรอบอาคาร
ซึ่งหากมีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว จะมีบทบาทสำคัญในการให้ฉลากประสิทธิภาพพลังงานกับวัสดุที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้บริโภคให้การยอมรับและเชื่อถือ สามารถใช้อ้างอิงและเปรียบเทียบประสิทธิภาพพลังงานของวัสดุต่างๆ ได้ ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคในการเลือกใช้วัสดุกรอบอาคาร เพื่อการประหยัดพลังงาน และจะเกิดประโยชน์กับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตวัสดุกรอบอาคาร ในมิติของการสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) โดยจะเกิดการวิจัยพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy)
และสุดท้าย ระหว่างวันที่ 28 -30 มิ.ย. งาน Clean Power Asia Conference & Expo 2011 โดยถือเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดกว่า 60 คนที่จะมาเป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และจะมีการฉายภาพตัวอย่างความสำเร็จด้านการพัฒนาพลังงานเพื่อการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 20 ตัวอย่างเพื่อเป็นกรณีศึกษา และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานครั้งไม่ต่ำกว่า 300 คน จากทั้งหมด 18 ประเทศที่ตอบรับการประชุมครั้งนี้แล้ว
โดยเวที Clean Power Asia ครั้งนี้ น่าจะเป็นการร่วมกันหารือถึงแนวทางและคำตอบที่ทั่วโลกกำลัง โหยหาการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะได้ ความรู้ ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมทั้งการได้ฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูง หรือ CEO จากบริษัทด้านพลังงานในระดับสากล เพื่อจะเป็นการปรับทิศทางการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทย รวมทั้งแนวทางการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดในอนาคตต่อไป