เนื้อหาวันที่ : 2011-05-27 15:50:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3259 views

The Next Eleven มหาอำนาจน้อยทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

พลังทางเศรษฐกิจ มีความหมายลึกซึ้ง เพราะใครก็ตามที่สามารถกุมพลังทางเศรษฐกิจไว้ได้ นั่นหมายถึงความมั่งคั่ง ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

           เมื่อฉบับที่แล้วผู้เขียนกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศกลุ่ม BRIC ไปแล้วนะครับว่า ในศตวรรษนี้บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน จะขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือประเทศกลุ่ม G7 เดิมที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอียู ผูกขาดมานาน

           จะว่าไปแล้วคำว่า “พลังทางเศรษฐกิจ” นั้นมีความหมายลึกซึ้ง เพราะใครก็ตามแต่ที่สามารถกุมพลังทางเศรษฐกิจไว้ได้ นั่นก็หมายความว่า ความมั่งคั่ง (Wealth) ที่จะตามมา และความมั่งคั่งนี้เองที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศดีขึ้น

           ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกหรอกครับ ที่ทุกวันนี้แต่ละประเทศจะหันมาสะสมศักยภาพทางเศรษฐกิจ พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เข้มแข็งเพื่อจะได้ต่อสู้ในสนามการค้า ขณะที่อีกด้านหนึ่งหลายประเทศพยายามสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาลงทุนในประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตามการจะก้าวไปแข่งขันกับคนอื่นได้นั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศตัวเอง คือสิ่งสำคัญที่สุดครับ

           โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าโลกเราเดินมาไกลเกินกว่าที่จะทำ “สงคราม” ทำลายล้างกันแล้ว สงครามทุกวันนี้มิใช่สงครามเมื่อสองสามร้อยปีที่แล้ว ที่ต้องไปตีชิงบ้านชิงเมืองกัน หากแต่เป็นสงครามที่ต้องใช้กำลังสติปัญญาในการเอาชนะกันทางเศรษฐกิจ การค้า การทำมาหากิน ด้วยเหตุนี้ไงล่ะครับที่เราจำเป็นต้องมีภาครัฐที่ “เก่งและดี” ไปพร้อม ๆ กันที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ในทำนองเดียวกัน เราต้องมีระบบราชการที่เข้มแข็งแต่ไม่ใหญ่โตเทอะทะเพื่อตอบสนองการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ ล้วนเดินตามแนวทางการพัฒนาแบบกระแสหลัก (Mainstream Development) กล่าวคือ ยึดมั่นในระบบตลาดเป็นกลไกหลักในการจัดสรรทรัพยากร ลดบทบาทภาครัฐในการแทรกแซงเศรษฐกิจให้น้อยลง เน้นการเปิดการค้าการลงทุนอย่างเสรี แนวทางที่ว่านี้สามารถสร้างความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ รวมไปถึงช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเจ้าระบบทุนนิยมนั้นมันเหมาะสมสำหรับทุกประเทศจริงหรือเปล่า

           กลับมาที่เรื่องในฉบับนี้กันต่อครับ ชื่อของ The Next Eleven กลายเป็นชื่อที่ต่อจาก BRIC ในฐานะที่เป็นกลุ่มประเทศน้องใหม่ดาวรุ่งที่ “ฉายแวว” ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะพัฒนาไปได้ไกลไม่แพ้กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอดีต

           กลุ่มประเทศ The Next Eleven ประกอบไปด้วย บังคลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน เกาหลี เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ตุรกี และเวียดนาม

           ทั้งสิบเอ็ดประเทศนี้ล้วนอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยมีประเทศจากเอเชียใต้สองประเทศ คือ ปากีสถานและบังคลาเทศ มีหนึ่งเดียวจากตะวันออกกลาง คือ อิหร่าน มีสองประเทศจากแอฟริกา คือ อียิปต์และไนจีเรีย ส่วนในยุโรปมีหนึ่งเดียวคือ ตุรกี ขณะที่ในอาเซียนของเรามีติดอยู่สามประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม

           น่าสนใจไหมครับว่าวันนี้ประเทศไทยของเราหลุดจากการเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจไปเสียแล้ว สำหรับเกาหลีนั้น ตัว Goldman Sach สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลกยังทำนายถึงขนาดว่าหากเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้รวมกัน (United Korea) จะกลายเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่แพ้ประเทศชั้นนำใน G7 หรือกลุ่ม BRIC เลยทีเดียว

The Next Eleven: มหาอำนาจน้อยทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 
           Jim O’Neil นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษแห่งสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ Goldman Sach เป็นคนแรกที่นิยามคำว่า BRIC ขึ้นมาซึ่งหมายถึงสี่ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21 โดยทั้งสี่ประเทศนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในแง่ของขนาดพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล มีจำนวนประชากรจำนวนมาก อีกทั้งมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจนเข้ารูปเข้ารอยภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRIC ช่วงระหว่างปี 2001-2007
ข้อมูลจาก Euromonitor International

           ต่อมาในปี 2005 Goldman Sach ได้ออกรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจมาอีกฉบับหนึ่งชื่อ The N-11 More Than Acronym ซึ่งหมายถึงสิบเอ็ดประเทศถัดไปที่จะกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่แพ้ประเทศกลุ่ม G7 หรือ BRIC

           ในรายงานฉบับนี้ Goldman Sach ใช้ตัวชี้วัดคัดเลือกประเทศทั้งสิบเอ็ดเริ่มจากความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability) ความมั่นคงทางการเมือง (Political Maturity) นโยบายการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (Openness of trade and Investment Policies) รวมไปถึงคุณภาพของระบบการศึกษาภายในประเทศ (Quality of Education)

           โดยทั้งสิบเอ็ดประเทศ (Next Eleven หรือ N-11) ประกอบไปด้วยบังคลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน เกาหลีใต้ เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ตุรกีและเวียดนาม ซึ่งทั้งสิบเอ็ดประเทศนี้ทาง Goldman Sach มองว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะกลายเป็นมหาอำนาจน้อยทางเศรษฐกิจในอนาคต กล่าวคือ มีอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน และหากคิดเฉพาะยอดรวมแล้วอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมากที่สุดในกลุ่มถึง 228.9 ล้านคน (ข้อมูลเมื่อปี 2008) ขณะที่ปากีสถานมีอัตราการเพิ่มของประชากรสูงที่สุดในกลุ่มคิดเป็นร้อยละ 11.08

           สาเหตุที่จำนวนประชากรกลับมามีอิทธิพลต่อการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ก็เพราะประเทศใดที่มีประชากรจำนวนมากย่อมสะท้อนให้เห็นถึง “ขนาดตลาด”ของประเทศนั้นด้วย

           หากคนในประเทศนั้นเริ่มมีอันจะกินมากขึ้นเท่าใด “กำลังซื้อ” และ “กำลังการผลิต” ย่อมเพิ่มสูงตาม ซึ่งจะเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาลงทุนและค้าขายกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีรายจ่ายในการบริโภคมวลรวมสูงที่สุดในกลุ่ม N-11 ประมาณ 567 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้การที่ประเทศกลุ่ม N-11 มีประชากรเป็นจำนวนมากยิ่งทำให้มีกำลังแรงงานในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วยครับ

           ถ้าเราสังเกตให้ดี ๆ จะเห็นได้ว่าทั้งกลุ่มประเทศ BRIC และ N-11ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากร ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย บราซิล อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้สามารถพึ่งพาตลาดภายในประเทศตนเองได้และยังสามารถดึงดูดให้เกิดการค้าขายระหว่างประเทศได้อีกเช่นกัน

           อย่างไรก็แล้วแต่ ใช่ว่ากลุ่ม N-11 จะมีความคล้ายคลึงกันหมดเสียทีเดียว ทั้งนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่าเป้าหมายในการพัฒนาประเทศของทั้งกลุ่ม N-11 นี้ต่างกันครับ ทั้งนี้เราสามารถแบ่งแนวทางการพัฒนาของ N-11 ออกเป็นสองแนวทางหลัก คือ การพัฒนาที่ยังเน้นไปที่ภาคเกษตรกรรมคล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (Developing Countries) และการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Economies: NICS)

           แนวทางการพัฒนาที่เน้นไปที่ภาคเกษตรก่อนอุตสาหกรรมนั้น มีอยู่ห้าประเทศที่เลือกเดินทางนี้ครับ คือ บังคลาเทศ อิหร่าน ไนจีเรีย ปากีสถานและเวียดนาม ขณะที่ประเทศที่เหลือเลือกที่จะเดินตามแนวทางการพัฒนาโดยมุ่งเน้นสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่

โครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันใน Cilacap อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียนอกจากจะมีความได้เปรียบเรื่องประชากรแล้ว
ยังมีทรัพยากรน้ำมันซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคนี้

           จะว่าไปแล้วการเลือกเดินทางแนวทางไหน ไม่มีใครถูกหรือผิดหรอกนะครับ เพียงแต่ว่ายุทธศาสตร์ในการเลือกพัฒนาประเทศนั้น คนในประเทศนั้นย่อมรู้ดีกว่าคนนอก เช่น ที่บังคลาเทศยังให้ความสำคัญในเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม อย่างพวกป่าน ปอกระเจา หรือสิ่งทอก่อนเนื่องจากรู้ดีว่าหากกระโดดไปแข่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็คงสู้กับชาติอื่นไม่ได้ เพียงแต่ว่าการเลือกที่จะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในสินค้าเกษตรกรรมนั้นจะต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างไรที่ไม่ให้โดนเอารัดเอาเปรียบในตลาดโลก เช่นเดียวกับไนจีเรียที่เป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ประเทศหนึ่งในแอฟริกา เป็นต้น


     GDP รายหัว หรือ GDP Per Capita ของกลุ่ม N-11
   จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกันทั้งหมดแล้วเกาหลีใต้คือประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในกลุ่ม
ข้อมูลจาก Euromonitor International (ข้อมูลปี 2007)

           อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ Goldman Sach เลือกประเทศเหล่านี้เข้ามาติดกลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรงนั้นคงพิจารณาถึง “ศักยภาพ” ในการเจริญเติบโตเป็นสำคัญนะครับ ศักยภาพที่ว่านี้มันสะท้อนได้จากภาพกว้างสุด คือ ระบบเศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง เสถียรภาพทางการเมือง บรรยากาศทางการค้า การลงทุน และที่จะขาดไม่ได้ คือ คุณภาพของคนในประเทศนั้น

           มีการจัดอันดับประเทศที่น่าลงทุนโดยดูจากบรรยากาศความ “น่าลงทุน” พบว่า เกาหลีใต้นั้นติดอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 178 ประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดโดยวัดจากความง่ายในการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อัตราภาษีที่จูงใจให้เข้ามาลงทุน รวมไปถึงความพร้อมของสถาบันการเงิน เป็นต้น

           ในปี 2006 ตุรกี มีเม็ดเงินเข้าไปลงทุนมากที่สุดสูงถึง 20.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว สาเหตุสำคัญที่ตุรกีได้รับการจับตามองจากนักลงทุนก็เนื่องจากเป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุโรปกับตะวันออกลาง (Middle East) ซึ่งจะทำให้ตุรกีกลายเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการขนถ่ายสินค้าเข้าออกระหว่างสองภูมิภาคนี้

ขนาดเศรษฐกิจในปี 2025 และ 2050
จะเห็นได้ว่าในปี 2025 สหรัฐอเมริกายังมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
แต่เมื่อถึงปี 2050 ขนาดเศรษฐกิจของจีนแซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งโดยมีอินเดียคู่หูก้าวขึ้นมาที่สาม
ส่วนประเทศในกลุ่ม N-11 ในปี 2050 อินโดนีเซียสามารถแซงเกาหลีใต้และแคนาดาได้
โดยขนาดเศรษฐกิจเวียดนามใกล้เคียงกับแคนาดาแล้ว
(ข้อมูลจาก The N-11 More than Acronym)

           ว่ากันว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจนี้มีความจำเป็นมากนะครับที่จะทำให้ประเทศ N-11 นั้นถึงฝั่งฝันได้ เพราะทุกวันนี้นักลงทุนจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผลิตสินค้าและบริการ หรือลงทุนทางการเงินล้วนแสวงหาแหล่งลงทุนและตลาดที่มีความพร้อมมากพอที่จะมองเห็น “อนาคต” ทางธุรกิจของพวกเขาได้

Maslak (ซ้าย) และ Levent (ขวา)
สองย่านธุรกิจสำคัญในอิสตันบูล (Istanbul) ตุรกี
สะพานเชื่อมระหว่างยุโรปและตะวันออกกลาง

           อย่างไรก็ดีใช่ว่าอนาคตของ N-11 จะสวยหรูไปเสียหมดนะครับ หลายประเทศในกลุ่มยังคงมีปัญหาภายในโดยเฉพาะปัญหาจากการก่อการร้ายที่กลายเป็นปัญหาน่าปวดหัวสำหรับรัฐบาล เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ยังคงเผชิญปัญหากลุ่มกบฏหัวรุนแรง หรือในปากีสถานที่ยังสางปัญหาเรื่องพรมแดนกับอินเดียไม่สำเร็จเสียที เช่นเดียวกับอิหร่านที่ยังระหองระแหงกับสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเครื่องฉุดรั้งการพัฒนาประเทศได้ไม่เต็มศักยภาพ

           แม้ว่ากลุ่ม N-11 จะเป็นเพียงแค่การคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจ Goldman Sach แต่การทำนายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงภาพการพัฒนาประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปนะครับ จากแต่เดิมที่เราเข้าใจกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีเพียงไม่กี่ประเทศอย่างกลุ่ม G7 เพราะนับตั้งแต่กลุ่ม BRIC เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายต่อหลายประเทศเริ่มเดินตามรอยของ BRIC อย่างเช่นเวียดนาม ที่ถอดแบบเดินตามรอยจีน พร้อมกันนั้นก็พยายามปรับแนวทางให้เข้ากับบริบทสภาพแวดล้อมของตัวเองด้วย ขณะที่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยิ่งทำให้หลายประเทศต้องดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจอย่าง “รอบคอบและระมัดระวัง” เพื่อไม่ให้ก้าวพลาดเหมือนบทเรียนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่เริ่มต้นขึ้นจากประเทศไทย

            จะว่าไปแล้ว ประเทศของเราในฐานะผู้ให้บทเรียนกับชาวบ้านเค้า คำถามที่น่าคิดต่อไปคือว่า แล้วเราเองเคยเรียนรู้อะไรจากบทเรียนการพัฒนาประเทศกันบ้างหรือเปล่า ?

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikipedia.org
2. The Next Eleven Emerging Economies: http://www.euromonitor.com/The_Next_11_emerging_economies
3. "The N-11: More Than an Acronym"–Goldman Sachs study of N-11 nations, Global Economics Paper No: 153, March 28, 2007.