เนื้อหาวันที่ : 2011-05-27 14:39:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2488 views

เวก้าฯ ชี้วิกฤตอาหารโลกไทยได้ประโยชน์เต็ม ๆ

เวก้าฯ ส่งอาหารไทยบุกตะวันออกกลางฉวยข้อได้เปรียบรับวิกฤติอาหารโลกแพงกระฉูด ชี้ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากส่งออกอาหารในภาวะวิกฤตด้านอาหารของโลก

          เวก้าฯ ส่งอาหารไทยบุกตะวันออกกลางฉวยข้อได้เปรียบรับวิกฤติอาหารโลกแพงกระฉูด ชี้ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากส่งออกอาหารในภาวะวิกฤตด้านอาหารของโลก

          คุณอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ็กซิบิชั่น จำกัด ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตอาหารเพื่อส่งออกอย่างได้ประโยชน์เต็มๆในวิกฤติสินค้าอาหารของโลกราคาแพง สืบเนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิต และผู้ขายท่ามกลางโลกเผชิญปัญหาภาวะผลผลิตลดลงและวัตถุดิบขาดแคลนจากภาวะโลกร้อน อากาศเปลี่ยนแปลง เกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง ตามมาด้วยปัญหาโรคระบาดที่มีมากขึ้น

อีกทั้งปัจจุบันพลังงานทางเลือกทำให้พื้นที่พืชอาหารถูกแบ่งไปปลูกพืชพลังงานทดแทน ทำให้ผลผลิตพืชอาหารลดลง สินค้าอาหารจึงมีราคาแพง จากการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสดังกล่าวจะทำให้ภาพรวมสินค้าอาหารส่งออกโตขึ้นกว่า15% ในปีนี้ ซึ่งสหรัฐและยุโรปยังคงเป็นตลาดหลักแต่ควรมีการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ไม่ควรหวังพึ่งตลาดหลักเดิมๆอย่างเดียวอีกต่อไป

          ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ตะวันออกกลางได้กลายเป็นตลาดทางการค้าที่มีศักยภาพและควรจับตามองเนื่องจากเป็นตลาดที่มีประชากรหรือผู้บริโภคเกือบ 300 ล้านคน มูลค่าการส่งออกอาหารไปตะวันออกกลางของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ เกือบ 50 % คือ ข้าวเจ้าขาวแบบต่างๆ ข้าวนึ่งและข้าวหอมมะลิ รองลงมาได้แก่ สินค้าประมง เช่น ทูน่ากระป๋อง ทูน่าแปรรูปแบบอื่นๆ ปลาแช่แข็ง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด ผลไม้สด และตากแห้ง ผักสดแช่เย็นแช่เข็ง ผักแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังเป็นต้น

กลุ่มประเทศอาหรับ15 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ คูเวต จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ไซปรัส ตุรกี บาห์เรน เยเมน เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก อิหร่าน อิสราเอล และโอมาน มีประชากรรวมกันประมาณเกือบ250 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวอาหรับ และแรงงานจากต่างประเทศ ได้แก่ ชาวเอเซียใต้

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำทำให้ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตรและแรงงานขาดทักษะทางการเกษตรตะวันออกกลางผลิตอาหารได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการบริโภค จึงต้องพึ่งพิงอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ยกเว้นอิสราเอลที่มีความก้าวหน้าทางการเกษตรสูง ตะวันออกกลางจึงเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการค้าสูง เฉพาะประเทศสมาชิก GCC 5 ประเทศ มีมูลค่าการนำเข้าอาหารรวมกันประมาณ เกือบ10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

          “ปี54นี้ ผมกำลังรวบรวมผู้ประกอบการสินค้าอาหารของไทยบุกตลาดตะวันออกกลางผ่านงานแสดงสินค้าอาหาร3งาน3ประเทศคือ งานแสดงสินค้าอาหารเทศกาลรอมฎอน “Ramadan Food Exhibition 2011” มีชรีฟ ประเทศคูเวต จัด17-29กรกฎาคม ซึ่งสินค้าอาหารเป็นสินค้านำเข้าอันดับ1ของคูเวต ตามมาด้วยงานแสดงสินค้า “Saudi Agro Food 2011” ริยาร์ด ประเทศซาอุดิอาระเบีย จัด 19-22 กันยายน ซาอุดิอาระเบียอัตราเติบโตของประชากรประมาณ 3 % ต่อปี และมีประชากรส่วนใหญ่อายุน้อย ทำให้เปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคของตะวันตกได้ง่ายขึ้น

ตลาดการค้าอาหารเติบโตของซูปเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารแบบตะวันตกกว่า40ปีมาแล้ว ทำให้เกิดการสร้างอุปสงค์ต่อสินค้ามูลค่าเพิ่มมากขึ้น อาหารเช้าจากธัญพืช เนยแข็ง เนื้อสัตว์ สแน็ก คุกกี้ เค้ก และอาหารแช่แข็ง เป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียยังเป็นประเทศที่นำเข้าเนื้อไก่มากที่สุดในตะวันออกกลาง ปริมาณการบริโภคต่อหัวเพิ่มขึ้นทุกปี

ปิดท้ายด้วยงานแสดงสินค้า “Food &Hotel” ที่มัสกัต ประเทศโอมาน จัด 30 ตุลาคม-1 พฤศจิกายนนี้ โอมานมีความจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจำนวนมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดเช่น สภาพอากาศและภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทั้งยังมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสินค้าอาหารของไทยนั้น ได้รับการยอมรับในคุณภาพ ดังที่ได้เห็นจากอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลแช่เย็น รวมทั้ง อาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งสามารถครองตลาดได้มากกว่าร้อยละ 70 ส่งออกเป็นอันดับ 1 ใน 5 ปีที่ผ่านมา โอมานเป็นตลาดเปิดที่มีศักยภาพ ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้า มีกำลังซื้อสูง

          คุณอัครวุฒิได้แนะนำเพิ่มเติมว่า“การเข้าไปบุกตลาดอาหารในตะวันออกกลางผู้ประกอบการของไทยควรศึกษาข้อมูลแต่ละตลาด ทั้งด้านพฤติกรรมผู้บริโภค เงื่อนไขการค้า และกฎระเบียบ เนื่องจากแต่ละประเทศมีลักษณะแตกต่างกันมาก การเจรจาราคาสินค้าต้องเจรจาด้วยราคาC&F ซึ่งต้องรวมราคาของการแก้ไขหรือปิดฉลากเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศ และควรนำตัวอย่างสินค้าไปแสดง เตรียมตัวสำหรับการเจรจาเรื่องแผนการตลาดและความช่วยเหลือในการส่งเสริมการขาย

เพราะผู้นำเข้าท้องถิ่นจะพยายามมองหาความช่วยเหลือ อย่างเช่น ตัวอย่างสินค้าฟรี โฆษณาการจัดสินค้าในร้าน ส่วนลด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งเข้าไปทำตลาด เตรียมที่อยู่อีเมล์ เว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ที่ลูกค้าสามารถติดต่อกับบริษัทได้โดยตรง เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าด้วย”

นอกจากนี้คุณอัครวุฒิยังกล่าวทิ้งท้ายว่าอาหารฮาลาลก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยที่มีความสำคัญ เพียงแต่ว่ายังมีผู้ประกอบการในตลาดตรงนี้น้อย จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดสินค้าฮาลาลในภูมิภาคอาหรับนี้สำหรับตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทยก็คือ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีมุสลิมอยู่หนาแน่นและมีกำลังซื้อสูง