สุวัฒน์ มั่นใจศาลยกฟ้อง หลังชาวสระบุรียื่นฟ้องศาลแพ่งแผนกสิ่งแวดล้อม ชี้เป็นเรื่องเก่า เตรียมงัดคำพิพากษายกฟ้อง ผลตรวจสอบกรมโรงงาน สู้คดี ยันศูนย์กำจัดขยะสระบุรีไม่ก่อมลพิษ
นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
สุวัฒน์ มั่นใจศาลยกฟ้อง หลังชาวสระบุรียื่นฟ้องศาลแพ่งแผนกสิ่งแวดล้อม ชี้เป็นเรื่องเก่า เตรียมงัดคำพิพากษายกฟ้อง ผลตรวจสอบกรมโรงงาน สู้คดี ยันศูนย์กำจัดขยะสระบุรีไม่ก่อมลพิษ
“สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ” ไม่ห่วงชาวบ้านสระบุรีฟ้องศาลแพ่งระบุเป็นเรื่องเก่าที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลแพ่ง แต่ได้โอนย้ายคดีมาที่ แผนกสิ่งแวดล้อม ประเดิมเป็นคดีแรกหลังเปิดแผนกเป็นทางการ พร้อมมั่นใจงัดคำพิพากษายกฟ้องของศาล/ผลการตรวจสอบของกรมโรงงาน และหน่วยงานรัฐ ยืนยัน ศูนย์กำจัดขยะBWGที่สระบุรีไม่ก่อมลพิษทั้งทางน้ำ/อากาศ เผยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้แถมเปิดศูนย์ให้ทั้งหน่วยงานรัฐ-ผู้ถือหุ้น-สื่อ เข้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อเนื่องพร้อมคุยปัจจุบันยังเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับนักเรียนนักศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ
นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ผู้ดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยมีศูนย์บริหาร และจัดการกากอุตสาหกรรม อยู่ที่จังหวัดสระบุรี เปิดเผยภายหลังจากที่มีข่าวว่าราษฎรจากจังหวัดสระบุรี ยื่นฟ้องบริษัทฯ ต่อศาลแพ่งและต่อมาได้โอนคดีมาที่แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก
หลังจากที่เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลแพ่งเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ไม่รู้สึกเป็นห่วงในเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าว เนื่องจากเป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยฟ้องร้องบริษัทฯในเรื่องเดียวกันนี้มาแล้ว และศาลปกครองกลางได้เคยพิพากษายกฟ้องมาแล้วเช่นเดียวกัน
"ผมไม่รู้สึกกังวลกับเรื่องที่ถูกฟ้องร้องครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องเดียวกับที่เคยถูกฟ้องในครั้งที่ผ่านมา คือ เรื่องที่กล่าวหาว่าบริษัทฯ ประกอบกิจการแล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และที่ผ่านมาศาลปกครองกลางก็ได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว ดังนั้นถึงแม้จะนำมาฟ้องใหม่ในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในเมื่อเนื้อหาที่ฟ้องร้องและข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลเดียวกัน ก็ไม่น่าจะมีอะไรจะต้องกังวล
และที่สำคัญผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ปัจจุบันศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในจังหวัดสระบุรีไม่ได้ก่อผลกระทบต่อสุขภาพของราษฎร และสิ่งแวดล้อมใดๆ เพราะหน่วยงานภาครัฐที่ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่องก็ไม่ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องปรับปรุงหรือแก้ไขแต่อย่างใด นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็ได้ปฏิบัติตามมาตรการการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ระบุไว้ใน EIA อย่างต่อเนื่องด้วย”
นายสุวัฒน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เคยฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางในปี 2546 โดยมีหน่วยงานทางราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรับฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่อันตรายและที่เป็นอันตราย และให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และให้บริษัทฯชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้กับราษฎรที่เดือดร้อน โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี
ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์ ให้เห็นข้อเท็จจริงถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ยกคำขอกําหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี โดยขอให้ยุติการดำเนินการ บ่อฝังกลบไว้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แน่ชัดว่าผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานฝังกลบกากขยะอุตสาหกรรมของ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะนำมาตรการ หรือวิธีการ คุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคําขอของผู้ฟ้องคดีมาใช้ได้
อีกทั้งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ศาลจังหวัดสระบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 2754/2550 ที่กลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวกันนี้ได้กล่าวหาบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้มีอำนาจในข้อหาร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ประกอบกิจการ โดยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด มีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นประจำและสม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่เคยปรากฏว่า บริษัทฯ จะได้รับแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ได้มีคำพิพากษาในคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 2754/2550 หรือคดีหมายเลขแดงที่ 1995/2553 ให้ยกฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ได้ตรวจสำนวนและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วเห็นว่าถูกต้องและไม่มีเหตุอันควรเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เป็นอย่างอื่นจึงพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นดังกล่าว
“ผมเชื่อมั่นในการพิเคราะห์และพิจารณาคดีของศาล เพราะศาลท่านได้พิสูจน์พยานและหลักฐานต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน แม้กระทั่งการเดินเผชิญสืบในพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนั้น การฟ้องร้องในครั้งนี้ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องกังวลดังกล่าว”
เขากล่าวอีกว่า ปัจจุบันนอกเหนือจากบริษัทฯจะปฏิบัติตามกฎหมายของภาครัฐอย่างเคร่งครัดแล้ว ในส่วนของศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรมยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับทั้งนักเรียนนักศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศโดยมีนักศึกษาจากประเทศอังกฤษเข้ามาฝึกงานในศูนย์ฯของบริษัทฯด้วย ซึ่งหากบริษัทฯมีการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่โปร่งใสก็คงจะทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้
นอกจากนั้น ยังเปิดศูนย์ฯให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสื่อมวลชนและผู้ถือหุ้นก็ได้เข้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็เข้าใจและเห็นถึงความโปร่งใสและความตั้งใจจริงในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทฯ เองก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้นซึ่งที่ผ่านมาศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานสากล ทั้ง ISO9000 ISO14000 และล่าสุดยังได้รับรองมาตรฐานด้าน ISO18000 ซึ่งเป็นระบบมาตรฐาน ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอีกด้วย
นายธีระพล สังสกฤษ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟ้องในคดีแพ่งครั้งนี้ว่า กลุ่มบุคคลที่ฟ้องต่อศาลแพ่งในคดีนี้ เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับที่ฟ้องในคดีศาลปกครองกลางโดยได้นำเอาข้อเท็จจริงเดิมที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วนั้นมาเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีแพ่งอีก ซึ่งศาลแพ่งน่าจะมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นการฟ้องคดีที่ได้ล่วงเลยเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับศาลปกครองกลางได้เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่าการประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่ผ่านมา ได้กระทำการฝ่าฝืนกฏหมาย ก่อให้เกิดมลพิษ หรือสร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชนข้างเคียง