1. บางจากประเมินราคาน้ำมันโลกครึ่งปีหลังยืนเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในลิเบียที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยุติลงเมื่อใด รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจหนี้สาธารณะในยุโรป ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน
- สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ ปัจจัยด้านอุปทาน และปัจจัยการเก็งกำไร โดยเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวดีถึงร้อยละ 9.7 ในไตรมาส 1 ปี 54 เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักด้านอุปสงค์ที่สนับสนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้น
ในขณะเดียวกัน ความไม่สงบในตะวันออกกลาง กอปรกับการจำกัดกำลังการผลิตของโอเปค เป็นปัจจัยลบด้านอุปทาน อีกทั้งเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะกรีซที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และอิตาลีถูกปรับลดแนวโน้มจาก "มีเสถียรภาพ" เป็น "เชิงลบ"
ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ทการลงทุนและเข้าไปเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันดิบมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54 ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 54 จะอยู่ที่ 90 - 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป อาจทำให้สศค.ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในการประมาณการเศรษฐกิจ ณ เดือนมิ.ย. 54 นี้
2. คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 54 หดตัวที่ร้อยละ 3.6 จากปีก่อนหน้า
- คำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 54 หดตัวที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หดตัวลงต่ำกว่าคาดการณ์และต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากผลกระทบของการหยุดทำการของบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นหลังจากภัยซึนามิในเดือน มี.ค. 54 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานรถยนต์
- สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวของคำสั่งซื้อสินค้าคงทนดังกล่าวเกิดจาก 1) การเร่งสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยในเดือน มี.ค. 54 คำสั่งซื้อสินค้าคงทนขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 จากปีก่อนหน้า และ 2) จากการลดลงของอุปทานรถยนต์ ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลให้ตัวเลขดังกล่าวหดตัวลงเพียงชั่วคราว โดยคาดว่าการบริโภคสินค้าคงทนจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากการเปิดทำการตามปกติของบริษัทผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยซึนามิ
ทั้งนี้ หากพิจารณาการบริโภคสินค้าทั่วไป จากตัวเลขยอดค้าปลีกจะพบว่ายังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ยอดค้าปลีกขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 จากปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 จากปีก่อนหน้า สะท้อนภาคการบริโภคของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ เช่น ปัญหาอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นต้น
3. การลงทุนเอกชนออสเตรเลียไตรมาสที่ 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากไตรมาสก่อนหน้า
- การลงทุนภาคเอกชนของออสเตรเลียไตรมาสที่ 1 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q SA) ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.5 โดยการขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนในสินค้าทุนและอุปกรณ์การผลิต (Capital and Equipment) ที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.8 จากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่หากพิจารณาในมิติอุตสาหกรรมจะพบว่าภาคอุตสาหกรรมเหมื่องแร่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.0 จากไตรมาสก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ในระดับสูงเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียที่น่าจะยังคงขยายตัวได้ดีในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามภาคอุตสหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของภาคอุปทาน เริ่มส่งสัญญาณจุดอิ่มตัวหลังจากขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 51 โดยสะท้อนได้จากการจ้างงานเดือน เม.ย. 54 ที่ลดลง 22,119 ต่ำแหน่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 3.1
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง