1. กระทรวงพาณิชย์มั่นใจส่งออกปีนี้โตตามเป้าร้อยละ 15
- รมว.กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกของไทยปี54จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15 ตามเป้าที่ตั้งไว้ แม้ว่าประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างญี่ปุ่นจะประสบภัยพิบัติครั้งรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ทำให้การส่งออกในภาคอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้มากขึ้น โดยในปี 54 คาดว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยโดยรวมจะขยายตัวร้อยละ 11 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 8.24 เนื่องจากความพร้อมของประเทศไทยทั้งทางด้านวัตถุดิบและกำลังการผลิตอาหารที่สำคัญของตลาดโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยขยายได้ดีต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นมากในไตมาสแรกของปี 54 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 28.3 โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรกรรม ตามลำดับ และยังส่งออกได้ดีไปในประเทศจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในเดือนเม.ย. 54 ชะลอตัวลงหลังจากที่เร่งขึ้นในช่วงก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 24.6 ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.9 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง
2. ยอดส่งออกญี่ปุ่นเดือนเม.ย.54 ร่วงร้อยละ 12.5
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น รายงานยอดส่งออกเดือนเม.ย. มีมูลค่า 5.1 ล้านล้านเยน หรือ 6.28 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ที่ต้องระงับการผลิต โดยยอดส่งออกจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯหดตัวลง 23.3%
ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียลดลง 6.6% และยอดการส่งออกไปยังประเทศจีนลดลง 6.8% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ส่วนยอดการนำเข้าเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.9% แตะที่ 5.6 ล้านล้านเยน ส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้ามูลค่า 4.6 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากภัยภิบัติที่เกิดขึ้นทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค. 54 หดตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านการผลิต เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค
การขาดแคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การขาดแคลนไฟฟ้า และการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ทั้งนี้ ดัชนี PMI ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 ต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)
3. คาดเดือน พ.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อเวียดนามอาจพุ่งแตะร้อยละ 20
- ทางการเวียดนามประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน พ.ค. 54 นี้อาจขยับเพิ่มขึ้นมาเกือบแตะร้อยละ 20เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาอาหารในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เป็นต้นมา แต่ยังถือว่าต่ำกว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 51 ที่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามพุ่งกระฉูด แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 28.3
ทั้งนี้ ยูเอ็น เตือนว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อัตราความยากจนให้เวียดนามเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1 – 2 จากปัจจุบันที่เวียดนามติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกดุลการค้ามูลค่า 4.6 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
- สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อ ของเวียดนามในเดือน พ.ค.54 ขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 19.8 จากร้อยละ 17.5 ในเดือนเม.ย.54 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หลังปรับฤดูกาลขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 2.1จากร้อยละ 3.0 ในเดือนเม.ย.54 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารขยายตัวอยู่ในระดับสูงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 28.3 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 24.4 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง