ตปท.แห่ร่วมงาน “ซับคอนไทยแลนด์ 2011” บีโอไอโชว์มูลค่าจับคู่ธุรกิจวันแรกพุ่ง 2,000 ล้านบาท
บีโอไอ เผยมูลค่าการจับคู่ธุรกิจภายในงาน “ซับคอนไทยแลนด์ 2011” วันแรก พุ่ง นักลงทุน ต่างชาติ ทั้ง ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เกาหลี เวียดนาม ตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรมคับคั่ง ดันมูลค่าเจรจาธุรกิจพุ่งแล้วกว่า 990 คู่ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ยืนยันทิศทางอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยสดใส คาดปีนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มขยายกำลังการผลิต
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสหากรรม (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2011 ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2554 ณ ไบเทค บางนา ว่า ผลการจัดงานวันแรก (19 พฤษภาคม 2554) ได้รับการตอบรับที่ดี มีเข้าร่วมชมงานจากกลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก
โดยในกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างผู้ประกอบการรับช่วงการผลิตกับบริษัทผู้ซื้อ ในลักษณะประชุมเจรจาธุรกิจแบบรายบริษัท (One-on-One Meeting) มีผู้ประกอบการสามารถเจรจาธุรกิจร่วมกันแล้วกว่า 990 คู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลของการเจรจาจับคู่ธุรกิจในวันแรก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าตลอดการจัดงานปีนี้ จะมียอดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 3,000 คู่ และมีมูลค่าการเจรจาซื้อขายสินค้าประมาณ 5,000 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ประเทศ ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี และเวียดนาม โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสำนักงานบีโอไอโตเกียว และโอซาก้า ได้ร่วมกันนำคณะนักธุรกิจที่สนใจกว่า 100 บริษัท รวมกว่า 130 ราย เดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
สามารถมีการเจรจาจับคู่กับผู้ประกอบการได้แล้วถึง 250 คู่ มูลค่าการซื้อขายร่วมกันภายในงานกว่า 300 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการต่อยอดการเจรจาไปสู่การทำธุรกิจร่วมกันในอนาคตอีกจำนวนมาก
“บรรยากาศการจัดงานปีนี้ ยอมรับว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนผู้ร่วมเข้าชมงาน และการตอบรับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มของงานในวันแรก โดยเฉพาะกิจกรรมจับคู่ธุรกิจนี้จะทำให้มูลค่าที่ได้จากการเจรจาธุรกิจในปีนี้จะเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และยังจะช่วยทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจร่วมกันได้ในอนาคตได้อีกจำนวนมากแน่นอน” นายชนินทร์ กล่าว
นายชนินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลตอบรับที่ดีจากการเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมกันในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2554 จะมีอัตราการเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะเริ่มมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ต้องเร่งลงทุนขยายกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชดเชยการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่ต้องประสบปัญหาสึนามิ และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หน่วย BUILD จะเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทย พัฒนาศักยภาพการผลิต และคุณภาพของสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ รองรับการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยจะเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการผลิต และนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตเพื่อลดต้นทุนผลิตมากขึ้น