กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน “ไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” พัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ปิดท้ายโครงการที่อุบลราชธานี
กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดจัดงาน “ไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาประกอบการและวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพิ่มช่องทางการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมทั้งให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลสินค้าผลิตภัณฑ์ เพื่อขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ทั้งยังให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าคุณภาพจากผู้ประกอบการ OTOP
โดยภายในงานพบมหกรรมสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ระดับ 5 ดาว จำหน่ายราคาพิเศษ กว่า 50 ร้านค้า พร้อมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่มาร่วมงาน ระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤษภาคม 2554 ณ ลานอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดสุดท้ายของโครงการนี้หลังจากจัดต่อเนื่องมาแล้ว 4 จังหวัด และสนุกกับกิจกรรมบนเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงาน “ไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อถ่ายทอดความรู้ และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทย ให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยได้จัดงานในภูมิภาคต่างๆ ไปแล้วจำนวน 5 ครั้ง อาทิ จังหวัดระยอง , จังหวัดลำปาง , อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก, จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุดท้ายคือจังหวัดอุบลราชธานี
นายณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีมีผู้ประกอบการและมีสินค้า OTOP นับหมื่นรายการ แต่มีสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย มผช. เพียงพันกว่ารายการ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ให้ความสำคัญ จึงกำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนามาตรฐานของสินค้า ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะสามารถต่อยอดพัฒนาสู่ตลาดในวงกว้างต่อไปได้เป็นอย่างดี
การจัดกิจกรรมในงานดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ในวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2554 ณ ลานอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่เวลา 10.00 น.- 21.00 น. โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยภายในงานพบกับ
- ผลิตภัณฑ์คุณภาพราคาพิเศษจากผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) กว่า 50 ร้านค้า
- กิจกรรมสาระบันเทิงมากมาย การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การเล่นเกม การแสดง
จากสถาบันการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนและประชาชน ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับพื้นที่การจัดงาน แบ่งเป็น 5 ส่วนงาน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คลินิกอุตสาหกรรม จะให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ 2 การจัดสัมมนาถ่ายทอดแนวทางในการจัดเตรียมเอกสารขอการรับรอง มผช. เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด
ส่วนที่ 3 กิจกรรมจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่มีสินค้าที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำหน่ายสินค้าราคาพิเศษให้แก่ประชาชนทั่วไป และได้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. Business Matching ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้พบปะเพื่อเจรจาธุรกิจร่วมกันกับนักธุรกิจจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อการเชื่อมโยงการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง
2. พื้นที่ออกร้านจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ ที่ได้เครื่องหมายรับรอง มผช. ในราคาพิเศษให้กับผู้เข้าร่วมชมงานตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดกิจกรรมในแต่ละจังหวัด ส่วนที่ 4 การแสดงนิทรรศการกระทรวงอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และส่วนที่ 5 กิจกรรมบริเวณเวทีกลาง ที่ให้ความสนุกสนาน และความบันเทิงมากมายแก่ผู้เข้าร่วมชมงาน
ทั้งนี้ รูปแบบของการจัดงาน “ไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” จะเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ได้นำแนวคิดที่ได้รับการถ่ายทอดจากงานสัมมนาการให้คำปรึกษาในด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านคลินิกอุตสาหกรรม
การจัดแสดงสินค้าเพื่อทดสอบความต้องการทาง การตลาด แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจอุตสาหกรรมของตนเอง ทั้งด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาปรับปรุงสินค้า/บริการทั้งในเรื่องของการตลาดและบรรจุภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
รวมถึงการจัดการด้านสถานที่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้า พร้อมเครื่องจักรอุปกรณ์ให้สามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือ การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ่าน Business Matching ที่จะเป็นการช่วยเปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนอีกทางหนึ่ง