ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือนเม.ย. ฟื้น ชี้บริโภคในประเทศโต คาดอีก 3 เดือนแตะที่ระดับ 116.2 จี้รัฐเร่งส่งเสริมลงทุน SMEs แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือนเม.ย. ฟื้น ชี้บริโภคในประเทศโต คาดอีก 3 เดือนแตะที่ระดับ 116.2 จี้รัฐเร่งส่งเสริมลงทุน SMEs แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2554 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,053 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 106.6 จากระดับ 102.3 ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนเมษายน ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการใช้จ่ายมากขึ้น ปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ที่เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งภาคการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.0 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนเมษายน พบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 104.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.7 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า(ยอดขายรองเท้าแฟชั่นและรองเท้าหนังในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเซรามิก (สุขภัณฑ์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 115.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 105.4 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 105.6 ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก(เครื่องแก้วและขวดแก้วมียอดขายไปญี่ปุ่นและยุโรปลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์(ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น(ขาดแคลนแรงงงาน) อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมก๊าซ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และหัตถอุตสาหกรรม(ยอดคำสั่งซื้อดอกไม้ประดิษฐ์ ภาชนะเคลือบดินเผา จากอเมริกา และออสเตรเลียลดลง) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ(ยอดขายปุ๋ย และน้ำสกัดชีวภาพลดลง)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 110.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ
และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 112.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์(สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดาน มียอดขายในประเทศเพิ่มมากขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 123.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 5 ภาค
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 104.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ในภาคกลางอุปสงค์ในสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การส่งออกก็ขยายตัวได้ดี และผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ยอดคำสั่งซื้อฝ้าฝ้ายจากบังคลาเทศและอินเดียเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง(หนังแผ่นมียอดขายเพิ่มขึ้นตามอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์) อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ยอดขายพัดลมในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหาร(ยอดส่งออกอาหารสำเร็จไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเคมี(ยอดทาสีอาคารในประเทศเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมพลาสติก
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 115.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 107.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 108.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการ ขณะที่ภาคการก่อสร้างขยายยังตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน
อีกทั้งการค้าชายแดนที่ยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (มีการเพิ่มกำลังการผลิตชุดนักเรียน เนื่องจากใกล้ช่วงเปิดเทอม) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 109.3 ในเดือนมีนาคม
องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 107.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับเทศกาลสงกรานต์ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์(ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน(ยอดขายหินก่อสร้างในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 119.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 116.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 114.0 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ในภาคตะวันออกเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันภาคการส่งออกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม(ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น)
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 121.6 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 121.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 93.5 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ในภาคใต้เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ความต้องสินค้าและบริการขยายตัวได้ดี และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี
สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น(แผ่นปาร์ติเกิลบอร์ดมียอดส่งออกไปยุโรปและออสเตรเลียเพิ่มขึ้น)อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง(ยอดคำสั่งซื้อยางแผ่น ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง จากจีนและบราซิลเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศและกลุ่มที่เน้นตลาดในต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายน ปรับเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 105.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์(ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการจัดงานแสดงสินค้า) อุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหะการ(ชิ้นส่วนเครื่องจักรมียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมยา(ยอดขายยาในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน) อุตสาหกรรมพลาสติก(ยอดคำสั่งซื้อถุงพลาสติกในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรม ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 115.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.0 ในเดือนมีนาคม
องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 113.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ(เครื่องประดับเงินและทองมียอดขายไปอเมริกา ฮ่องกง และเยอรมนีเพิ่มขึ้น)
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 112.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมือง ตามลำดับ โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยด้าน สถานการณ์ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐควรส่งเสริมการลงทุน แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เร่งหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม และเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม
ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)