วว.จับมือองค์กรพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น ...เปิดตัวโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือองค์กรพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น เปิดตัวโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง...แห่งแรกของประเทศไทย ระบุกำลังการผลิต 1 ตันต่อวัน เน้นใช้พืชน้ำมันที่ไม่ใช่อาหารเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลมาตรฐานระดับสากล ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หวังใช้เป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการขยายระดับผลิตในเชิงอุตสาหกรรม พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไบโอดีเซลของประเทศ
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีส่งมอบโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นส่งมอบโรงงานดังกล่าวให้แก่ผู้แทนจาก 5 หน่วยงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือในโครงการ “นวัตกรรมในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลที่ไม่ใช่อาหารและการใช้งานในยานยนต์
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว.ชี้แจงว่า โครงการ “นวัตกรรมในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลที่ไม่ใช่อาหารและการใช้งานในยานยนต์ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จาก 5 หน่วยงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร (มจพ.)
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Advanced Industrial Science and Technology หรือ AIST) และมหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้จัดหาและสนับสนุนการจัดสร้างโรงงานต้นแบบระบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง และอุปกรณ์ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA)
โรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูงนี้ ตั้งอยู่ ณ บริเวณ วว.เทคโนธานี จ.ปทุมธานี มีกำลังการผลิต 1 ตันต่อวัน สามารถควบคุมการผลิตแบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง ต้นแบบดังกล่าวเป็นการจำลองสายกระบวนการผลิตจริงของอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลแบบครบวงจร มีส่วนประกอบของเครื่องที่ใช้เพิ่มคุณภาพน้ำมันด้วยกระบวนการไฮโดรจีเนชัน ทำให้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงในระดับสากลตามมาตรฐาน WWFC สามารถใช้ผสมกับดีเซลใช้ในยานยนต์ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบการนำเมทานอลและน้ำกลับมาใช้ใหม่ โรงงานยังได้ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบฯ ดังกล่าว จะเน้นการใช้น้ำมันจากพืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ เพื่อลดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน
ประโยชน์ของโรงงานต้นแบบนี้ใช้เพื่อการวิจัยพัฒนาและรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต และยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงแก่ภาคการศึกษา และอุตสาหกรรมที่สนใจ
โดยคาดหวังว่าในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถเพิ่มสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลในปริมาณที่มากขึ้นสำหรับใช้ในยานยนต์ ลดปริมาณนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบด้านการเกษตร สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอุปทานพลังงานชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย