วัณโรค โรคติดต่อเรื้อรังที่มีการค้นพบมานานกว่า 200 ปีแต่ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่รุนแรงอยู่ในปัจจุบัน
แม้ข่าวการระบาดของโรคไข้หวัด 2009 จะเป็นที่ฮือฮาจนแทบจะกลบโรคอื่นๆ ไป แต่ในความเป็นจริง ยังมีโรคที่น่ากลัวอีกโรคที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะ “วัณโรค” เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่มีการค้นพบมานานกว่า 200 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่รุนแรงอยู่ในปัจจุบัน
วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งสามารถติดต่อกันได้จากการหายใจเอาละอองเชื้อในอากาศเข้าไป แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันวันโรค (BCG) ในเด็กแรกเกิด แต่วัคซีนดังกล่าวก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้สูงสุดเพียงร้อยละ 60 - 80 เท่านั้น
นอกจากนี้วัณโรคยังสามารถติดต่อผ่านทางสายรกจากแม่ไปสู่ลูกในครรภ์ได้อีกด้วย โดยในผู้ใหญ่มักพบว่าเป็นที่บริเวณปอด ส่วนในเด็กอาจเป็นวัณโรคที่อวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง หรือกระดูก ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2551 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคมากเป็นอันดับที่ 18 จากทั้งหมด 22 ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด
เชื้อวัณโรคเป็นเชื้อที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ความแห้ง ความเย็น แต่ไม่ทนต่อแสงแดด โดยเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในสถานที่อับหรือทึบแสง รวมถึงห้องปรับอากาศ ได้นาน 1 สัปดาห์ หรืออาจอยู่ได้นานถึง 6 เดือนในเสมหะที่แห้งแล้ว แม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคจะไม่ได้แสดงอาการของโรคเสมอไป แต่เชื้อก็จะสามารถแฝงอยู่ในร่างกายได้นานเป็นปีๆ และในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้ป่วยเอดส์ อาการของผู้ป่วยวัณโรค คือ จะไอเรื้อรังนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ขณะไออาจเจ็บหน้าอกหรือมีเลือดปนออก มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่ายหรือเย็น เหงื่อออกมากตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด ซึ่งผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้เป็นผู้แพร่เชื้อ โดยการปิดปากและจมูกขณะไอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท แสงแดดส่องถึง ไม่ถ่มน้ำลายหรือเสมหะในที่สาธารณะ งดดื่มเหล้า และงดสูบบุหรี่
วัณโรคสามารถหายขาดได้ โดยผู้ป่วยต้องกินยาสม่ำเสมอเป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งโดยทั่วไปในระยะ 2 เดือนแรกจะใช้ยาอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาและลดอัตราการดื้อยา แต่สิ่งที่ทำให้เป็นปัญหารุนแรงในปัจจุบันก็คือ เชื้อเกิดการกลายพันธุ์ จากการที่ผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่องหรือไม่ครบตามที่แพทย์กำหนด อาจเนื่องมาจากผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการดีขึ้น หลังจากกินยาไปแล้วเป็นเวลา 1 - 2 เดือน
หรือจากผลข้างเคียงของยา เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ทำให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง จึงเกิดโรคที่เรียกว่า “วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug resistance tuberculosis, MDR-TB)” ขึ้น และที่รุนแรงยิ่งกว่านั้น คือในปีพ.ศ.2549 องค์การอนามัยโลกก็ได้ออกประกาศว่ามีการพบ “วัณโรคดื้อยาเกือบทุกขนาน (Extensively drug resistance tuberculosis, XDR-TB)” ในแอฟริกาใต้ รัฐบาลแอฟริกาจึงได้ออกกฎหมายกักกันตัวผู้ป่วยไว้ เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ
โดยจากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 98 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคดื้อยาเกือบทุกขนานนี้ จะเสียชีวิตภายใน 16 วันหลังจากตรวจพบโรค ซึ่งขณะนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดดังกล่าวแล้วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
การจะควบคุมโรคติดต่อเหล่านี้ได้ นอกจากจะต้องอาศัยการพัฒนาด้านการแพทย์ และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของผู้ป่วยแล้ว การให้ความร่วมมือกับแพทย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อคนที่เรารักและสังคมด้วย ทั้งนี้คนรอบข้างก็ไม่ควรแสดงความรังเกียจผู้ป่วย เพราะหากมีความรู้ความเข้าใจมากพอก็จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ค่ะ
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine