เนื้อหาวันที่ : 2011-05-12 15:15:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 856 views

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ปี 53 ลดลงอยู่ที่ 73%

ผลการศึกษาเผยการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีในไทยปี 2553ลดลง 2 จุด เหลือ 73% ชี้ยิ่งลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

          ผลการศึกษาเผยการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีในไทยปี 2553ลดลง 2 จุด เหลือ 73% ชี้ยิ่งลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ตระหนักดีถึงคุณค่าของซอฟต์แวร์แท้  แต่ขาดความรู้ความเข้าใจว่าซอฟต์แวร์ใดเป็นของแท้มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย

          อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีในประเทศไทยปีพ.ศ. 2553 ลดลง 2 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 73 เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันจาก ร้อยละ 80 ในปีพ.ศ. 2549 อย่างไรก็ดี มูลค่าความสูญเสียเชิงพาณิชย์ที่เกิดจากการติดตั้งซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ็นต์บนพีซี ในปีพ.ศ. 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 777 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 694 ล้านเหรียญสหรัฐในปีพ.ศ. 2552

           ข้อมูลดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี พ.ศ. 2553 ใน 116 ประเทศทั่วโลก ของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ นับเป็นครั้งที่ 8 ของความร่วมมือกันระหว่างบีเอสเอและไอดีซี บริษัทศึกษาวิจัยตลาดชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

           “ผลการศึกษาแสดงให้เห็น ความก้าวหน้าของการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เป็นผลมาจากการทำงานที่ประสานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลส่งเสริมคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แก่ภาคธุรกิจ และการที่ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นางสาว วารุณี  รัชตพัฒนากุล โฆษกของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์กล่าว

“อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายยังต้องเดินหน้าทำงานต่อไป เพราะอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ร้อยละ 73 ยังคงสร้างความเสียหายให้แก่นักพัฒนาซอตฟ์แวร์ ผู้ซึ่งจะเติบโตต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขา  ยิ่งเราลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้มากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นเท่านั้น”

การศึกษาของไอดีซี ประมาณการว่า  การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้      10 จุด ภายในระยะเวลา 4 ปี จะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่เพิ่ม 600,000 ตำแหน่งทั่วโลก
 
           นางสาว วารุณี ให้ความเห็นว่า การจ้างงานซึ่งเป็นผลมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ลดลง จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับภูมิภาคได้ในระยะยาว เมื่อเร็วๆ นี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการจ้างงานที่สร้างรายได้ในระดับกลางเพิ่มขึ้น

           “เนื่องจากมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากมายที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างงานที่มีคุณภาพและยั่งยืน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นับว่ามีศักยภาพสูงสุดในการสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว”

          การศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกในปีนี้ ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมในมุมมองใหม่ ได้แก่ การสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้พีซี ในหัวข้อทัศนคติและพฤติกรรมของสังคัมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งการศึกษาในส่วนนี้ดำเนินการโดยบริษัท Ipsos Public Affairs
 
          การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าว พบว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 คน เห็นว่า ผู้สร้างสรรค์งานนวัตกรรมใหม่ๆ สมควรได้รับผลตอบแทนสำหรับผลงานของตน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีต่อไป อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าแปลก ที่พบว่า ความต้องการให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีอยู่มากที่สุดในประเทศที่มีอัตราการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง 
 
          การสำรวจยังพบว่า คนส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ซอฟต์แวร์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอย่างถูกต้องนั้นดีกว่าซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้มากกว่า ปัญหา คือ ผู้ใช้พีซีจำนวนมากขาดความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องการซื้อซอฟต์แวร์ โดยไม่เข้าใจว่าการซื้อซอฟต์แวร์หนึ่งไลเซนต์ (License) มาใช้งานกับพีซีหลายเครื่อง หรือการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จากเครือข่ายเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer Network) นั้นถูกหรือผิดกฎหมายกันแน่ 

          “เห็นได้ชัดว่า ผู้ใช้ตระหนักดีถึงคุณค่าที่ได้รับจากซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย” นางสาว วารุณี กล่าว “ผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องให้ความรู้แก่ผู้ใช้ว่า ซอฟต์แวร์ที่ดาวน์โหลดมาจากเครือข่ายเพียร์ทูเพียร์นั้นมักจะเป็นซอฟต์แวร์เถื่อน และการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาเฉพาะสำหรับใช้กับพีซีหนึ่งเครื่อง ลงบนพีซีหลายเครื่องไม่ว่าจะเป็นพีซีที่บ้านหรือที่ทำงาน เป็นการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์”

          มร. วิคเตอร์ ลิม รองประธาน ฝ่ายให้คำปรึกษา ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในฐานะตัวแทนของไอดีซี กล่าวว่า “การมีไลเซ็นต์ (license) สำหรับการใช้งานซอฟต์แวร์ไม่ครบ กล่าวคือ ซื้อสำเนาซอฟต์แวร์ของแท้ที่มีไลเซ็นต์ (license) ถูกต้องมาหนึ่งสำเนา เพื่อมาใช้งานหรือติดตั้งลงบนพีซีหลายเครื่อง ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่แต่เฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เท่านั้น

เพราะซอฟต์แวร์ถือเป็นสินทรัพย์ หรือต้นทุนในการผลิตในทุกภาคส่วน ของระบบเศรษฐกิจ บริษัทที่ไม่จ่ายเงินซื้อ หรือลงทุนกับซอฟต์แวร์ ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ จะได้เปรียบบริษัทที่เป็นคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรมในเรื่องของต้นทุนการผลิต

และสิ่งนี้เองที่จะทำลายระบบการแข่งขันในภาพรวมด้วย ไอดีซีเห็นว่า ภาครัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว ผ่านกลไกการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และกลไกการบังคับใช้กฎหมาย  เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้แน่ใจได้ว่า โซลูชั่น และซอฟต์แวร์ ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป

ข้อมูลสำคัญอื่นๆ จากผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก มีดังต่อไปนี้
          • มูลค่าเชิงพาณิชย์ของซอฟต์แวร์ที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คิดรวมทั้งสิ้นเป็น มูลค่า 18,746 ล้านเหรียญสหรัฐ และทั่วโลก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 59 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงเกือบสองเท่าเทียบกับเมื่อครั้งเริ่มต้นทำการศึกษาในปีพ.ศ. 2546

          • ครึ่งหนึ่งของ 116 ประเทศที่ทำการศึกษาสำหรับปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ร้อยละ 62 หรือสูงกว่า เมื่อเทียบกับอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 42

          • ประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซี อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 2.5 เท่า มูลค่าเชิงพาณิชย์ของซอฟต์แวร์ที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต (31.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) มากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าความมูลค่าทั่วโลก

          •  ข้อดีของการใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุด คือ การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านเทคนิค (ร้อยละ 88) และความปลอดภัยจาก      แฮกเกอร์และมัลแวร์ต่างๆ (ร้อยละ 81)

          • คนส่วนมากละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โดยซื้อซอฟต์แวร์เพียงไลเซนต์เดียว แต่ติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวลงบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง

          • ผู้ใช้พีซีส่วนใหญ่ทั่วโลกเชื่อว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยร้อยละ 59 กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ และร้อยละ 61 กล่าวว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้เกิดการจ้างงาน 

           “ผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกในวันนี้ แสดงให้เห็นว่า ในขณะที่การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกต่อไป แต่ผู้คนมีความเข้าใจ และเห็นถึงคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญาชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ”     มร.โรเบิร์ต ฮอลลีแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบีเอสเอกล่าว

          “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงบั่นทอนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านไอที การสร้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก การศึกษาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ความสำคัญของการให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ใช้ซอฟต์แวร์ เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ เพื่อหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์”

เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้
การศึกษาของบีเอสเอเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โลกประจำปีพ.ศ. 2553 ครั้งนี้ ครอบคลุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่ใช้งานบนเครื่องพีซี รวมถึงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็บท็อป คอมพิวเตอร์พกพา รวมถึงเน็ตบุ๊ค การศึกษาครั้งนี้ยังครอบคลุมซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ระบบ เช่น ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล และซอฟต์แวร์เพื่อความปลอดภัยของระบบ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งซอฟต์แวร์ที่มีการอนุญาตให้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส

สิ่งที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ บีเอสเอได้ให้บริษัท Ipsos Public Affairs ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้พีซี ทั้งที่เป็นองค์กรธุรกิจ และผู้ใช้ทั่วไป จำนวน 15,000 คน ในหัวข้อทัศนคติและพฤติกรรมของสังคมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้งานซอฟต์แวร์ในรูปแบบที่ได้รับอนุญาต (license) และในรูปแบบที่ไม่ได้รับอนุญาต (unlicensed) ทั้งทางออนไลน์และตัวต่อตัวใน 32 ประเทศ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความรู้     ความเข้าใจด้านไอทีแตกต่างกันไป

สำหรับวิธีการศึกษา และผลการศึกษาฉบับเต็ม สามารถหาอ่านได้ที่ http://www.bsa.org/globalstudy

เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) มีสมาชิกที่ประกอบด้วยผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้ในกิจการอีคอมเมิร์ส  สมาชิกบีเอสเอรวมถึง อโดบี, อจิเล้นท์ เทคโนโลยีส์, แอปเปิ้ล,         อควาโฟล, เออาร์เอ็ม, อาร์ฟิค เทคโนโลยี, ออโต้เดสค์, อวีวา, เบนลี่ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี/มาสเตอร์แคม คอเรล,  แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ คอร์ปอเรชั่น, ไมโครซอฟท์, มินิแท็บ, เน็ดกราฟฟิกส์, ออร์โบเทค, พีทีซี,      โปรเกรส ซอฟต์แวร์, เควสท์ ซอฟต์แวร์, โรเซ็ตต้า สโตน, ซีเมนส์,  ไซเบส, ไซแมนเทค, เทคล่า, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ส  และ เดอะ แมธเวิร์กส์

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอดีซี สามารถหาได้ที่ www.idc.com
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สามารถหาอ่านได้ที่ www.ipsos.com