1. ธปท.เผยค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นแต่ยังไม่น่ากังวล
- ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า เงินบาทในขณะนี้ผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ก่อน แต่ยังไม่น่ากังวล โดยมองว่าเมื่อมีความไม่แน่นอนก็จะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อเงินบาทขณะนี้เป็นปัจจัยภายนอก เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจหรือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ หรืออัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่มีการขึ้นลงซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน
- สศค.วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยนับจากต้นปี 54 ที่ร้อยละ 0.33 ณ วันที่ 11 พ.ค. 54 หรืออยู่ที่ระดับ 30.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเนื่องจากการไหลเข้าของกระแสเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ของไทย เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โ
ดยนับจากต้นปีกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรทั้งสิ้น 52,408.61 ล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 26,514.79 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในปี 54 เงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 29.20-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ 31 มี.ค.54)
2.ธ.ออมสินและธ.กรุงไทยเปิดโครงการปรับหนี้เป็นสินเชื่อวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
- ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยจะเปิดให้ลงทะเบียนปรับหนี้เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเตรียมวงเงินเพื่อดำเนินโครงการไว้ 1.5 แสนล้านบาท และจะเปิดรับลงทะเบียนในช่วงปลายเดือน พ.ค. 54 เพื่อเป็นการช่วยลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รักษาวินัยทางการเงิน ไม่เคยผิดนัดชำระเกิน 30 วัน แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง ผู้เข้าร่วมโครงการต้องคืนบัตรเครดิตใบที่นำมาปรับโครงสร้างหนี้จนกว่าจะชำระหนี้กับธนาคารออมสินหรือธนาคารกรุงไทยตามเงื่อนไขเสร็จสิ้นถึงจะกลับมาใช้บัตรเครดิตใบเดิมได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันหนี้บัตรเครดิตในระบบมี 1.9 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่มีการชำระตามเวลา 1.7 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของหนี้บัตรเครดิตรวม ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีภาระหนี้ผูกพันอยู่อีกประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 5 หมื่นล้านบาท
โดยโครงการนี้จะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR+3% ถึง MLR+5% หรือ คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตปกติที่อยู่ที่ร้อยละ 20 ดังนั้นโครงการดังกล่าวจะช่วยลดภาระหนี้ภาคประชาชน โดยเฉพาะภาระการจ่ายดอกเบี้ยให้ลดลงได้กว่าครึ่ง
3. อัตราเงินเฟ้อของจีนล่าสุดชะลอตัวลงอยู่ร้อยละ 5.3
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 54 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน มี.ค. 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 แต่ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีราคาหมวดอาหารปรับสูงขึ้นที่ร้อยละ 11.5 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาที่ไม่รวมหมวดอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่าการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือน เม.ย. 54 มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาอาหารโดยรวมที่ร้อยละ 0.4 และโดยเฉพาะราคาผักสดที่ปรับลดลงถึงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อ ณ เดือน เม.ย. 54 ที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 5 (สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายทั้งปีที่ร้อยละ 4)
ประกอบกับเศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 1 ยังคงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.7 ต่อปี ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีความร้อนแรง ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ประเทศจีนจะต้องดำรงมาตรการทางการเงินอย่างเข้มงวดต่อไป โดยการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดำรงเงินสดสำรองทางการของธนาคารพาณิชย์ในระดับสูง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 54 จะขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 9.0
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง