1. แบงก์ชาติชี้ตรึงพลังงานพยุงเงินเฟ้อระยะสั้น
- ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า แม้ว่านโยบายการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐจะช่วยลดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 4 แต่เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากอุปสงค์พลังงาน จนอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะยาว ให้ปรับตัวอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และทำให้ภาครัฐจะต้องใช้เงินในการอุดหนุนราคาพลังงานไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐจะมีส่วนช่วยพยุงอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย.54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ 9 พ.ค.54 อยู่ที่ 105.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากต้นปี
อย่างไรก็ตาม การรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้อยู่เหนือระดับราคา 30 บาทต่อลิตรได้ทั้งปี 54 คาดว่าจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 - 4.1) แต่หากไม่มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ต่อปี หรืออาจกล่าวได้ว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล จะมีส่วนช่วยลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 ได้ร้อยละ 0.7
2. พาณิชย์เผยยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจเดือนเม.ย. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 46
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย สถิติการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนเม.ย. 54 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัดทั่วประเทศ จำนวน 5,098 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีเงินทุนจดทะเบียนจำนวน 15,254 ล้านบาท โดยมีนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 42 ของการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งหมด คือ บริการนันทนาการ ก่อสร้างอาคารทั่วไป และอสังหาริมทรัพย์
- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ยอดจดทะเบียนตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 54 สามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 โดยได้รับแรงส่งสำคัญทั้งจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 54 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาจาก ภาคการส่งออกมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 56.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.3
ในขณะที่ภาคการบริโภคสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 10.5 และภาคการลงทุน จากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 29.4 รวมถึงภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมขยายตัวร้อยละ 14.7
3. มูลค่าส่งออกและนำเข้าในเดือน มี.ค.54 ของเยอรมันขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
- ยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือน มี.ค.54 ของเยอรมัน ขยายตัวได้สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมสถิติในปี 2493 โดยยอดการส่งออกมีมูลค่า 9.83 หมื่นล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี ในขณะที่ยอดการนำเข้ามีมูลค่า 7.94 หมื่นล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 16.9 ต่อปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 53 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมัน สามารถเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ โดยการส่งออกในเดือน มี.ค.54 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 54 มียอดดุลการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 38.2 พันล้านยูโร
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเยอรมันจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยูโรปที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง เนื่องจากเยอรมันมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยูโรปในสัดส่วนร้อยละ 50
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย ดังจะเห็นได้จากโปรตุเกสเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากกรีซและไอร์แลนด์ที่เข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมทั้งข่าวของกรีซที่กำลังพิจารณาจะเลิกใช้เงินสกุลยูโรในเร็วๆ นี้ และจะกลับไปใช้สกุลเงินดราชมาของตนเอง ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อเสถียรภาพของค่าเงินยูโรและอาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมัน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง