1. เงินเฟ้อกระทบท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเล็งขึ้นค่าบริการ 10%
- สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 54 ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 เดือน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะทยอยปรับอัตราค่าบริการขึ้นในเดือนพ.ค. ถึง ต.ค. ปีนี้ ประมาณ 5-10%
เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยจะเป็นการปรับราคาค่าบริการขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยคาดว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการปรับอัตราราคาค่าบริการขึ้นร้อยละ 5 ขณะที่ภาคอื่นๆ จะปรับขึ้นร้อยละ 10
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มราคาค่าบริการท่องเที่ยวจะส่งผลให้อำนาจการ จับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพรวมท่องเที่ยวยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสแรก 54 มีจำนวน 5.36 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศ ยกเว้นกลุ่มตะวันออกกลางเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในภูมิภาค
2. ส.อ.ท. เผย ผลิตยางรถเตรียมลดกำลังผลิตร้อยละ 40 ตามกลุ่มยานยนต์
- ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ลดกำลังการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ราว 1.5 แสนคัน เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง จากการประเมินจะสูญเสียรายได้ราว 900 ล้านบาท
โดยไตรมาสที่ 2 คาดว่าอุตสาหกรรมยางหดตัวอย่างน้อยร้อยละ 20 ซึ่งถ้าหากผลกระทบยังยืดเยื้ออาจทำให้ไม่สามารถผลิตได้ต่อไปในไตรมาสที่ 3 พร้อมกับมุ่งเน้นให้ ผู้ผระกอบการส่งออกยางพารา รวมทั้งวัตถุดิบยางล้อไปตลาดต่างประเทศแทนตลาดในประเทศให้มากขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือน มี.ค. ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจาก การขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบที่ต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยต้องชะลอการผลิตลง จึงทำให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ อย่างเช่นอุตสาหกรรมยางได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ดี สศค.คาดว่าการผลิตในญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นปกติในไตรมาสที่ 3/54 ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้ง
3. อัตราว่างงานสหรัฐฯปรับตัวขึ้นที่ร้อยละ 9.0
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย. 54 ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 244,000 ตำแหน่งมากที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากภาคเอกชนสร้างงานใหม่ 268,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐลดการจ้างงาน และอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นไปที่ร้อยละ 9.0 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.8
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ระดับ 65.4 ซึ่งส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลด้านเงินเฟ้อโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ได้รับปัจจัยหนุนจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตามอัตราว่างงานที่ปรับตัวขึ้นบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง โดยในไตรมาสแรกปี 54 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง