เนื้อหาวันที่ : 2007-03-21 09:39:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1447 views

สภาอุตฯใต้ แนะ"เซา เทิร์นซีบอร์ด"ขยับลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้

แนวคิดย้ายโครงการ "เซาเทิร์นซีบอร์ด" ลงสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างสอดรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประธานสภาอุตสาหกรรม ภาคใต้ ชี้มั่นใจพื้นที่มีศักยภาพช่วยกระตุ้นและสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักได้อีกครั้ง

กรุงเทพธุรกิจรายงานข่าว ประธานสภาพอุตฯ แนะย้ายโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดลงสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มั่นใจพื้นที่มีศักยภาพขยายฐานอุตสาหกรรมพร้อมเล็งเสนอมาตรการช่วยผู้ประกอบการชายแดนใต้เพิ่มอีก 3 ประเด็น

.

นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวถึง การฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะนี้หลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบว่า แนวทางที่จะรื้อฟื้นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด อีกครั้ง เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแหล่งใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB) ได้ขยายตัวจนเต็มพื้นที่นานแล้วและนับว่าเป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นและสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักได้อีกครั้ง

.

นายทวี กล่าวอีกว่า โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดเดิม ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยมีสะพานเศรษฐกิจที่ประกอบด้วย ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ ท่อน้ำมัน ก๊าซ และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่นครศรีธรรมราชส่วนฝั่งอันดามันอยู่ที่พังงา และมีนิคมอุสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ด้วยนั้น

.

ในความเห็นของส่วนตัวแล้ว คิดว่ารัฐบาลควรจะเลื่อนโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด จากภาคใต้ตอนบนลงมายังพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทั้งนี้รัฐบาลเองมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามันอยู่แล้ว นั่นคือ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันที่ ต.ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งมีร่องน้ำลึกถึงประมาณ 13 เมตร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบและมีการเตรียมจัดงบประมาณรองรับไว้แล้ว กับท่าเรืองน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีร่องน้ำลึกประมาณ 9 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการ และก็มีระบุไว้ในผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ที่กำลังจะประกาศใช้ในปีนี้แล้วด้วย นายทวี กล่าวและว่า

.

นอกจากนี้ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา มีโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งพื้นที่นี้ในผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ได้กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ด้วย นับว่ามีความพร้อมในหลายด้าน หากรัฐจะพิจารณาใช้พื้นที่ดังกล่าว สำหรับในส่วนของถนนเชื่อมท่าเรือหัวท้าย ก็มีการขยายเป็นสี่เลนแล้ว ส่วนพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็มีนิคมฯ ในจังหวัดสงขลา รองรับอยู่แล้ว ซึ่งยังสามารถขยายครอบคลุมทั้ง 9 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้เลย คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

.

นายทวี ระบุว่า หากรัฐบาลเคลื่อนโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ลงมายังภาคใต้ตอนล่าง ประโยชน์ในแง่บวกจะตามมาอย่างมากมาย เพราะนอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้แล้วยังสอดคล้องกับกรอบพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

.

ทั้งนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยจะนำหนังสือเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง เนื่องจากความช่วยเหลือที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุม และบางมาตรการที่รัฐบาลเห็นว่าติดขัดโดยเตรียมเสนอขอมาตรการช่วยเหลือเพิ่มอีก 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลงดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาของประชาชนที่มีฐานรายได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องนี้เคยขอไปแล้วแต่รัฐบาลอ้างว่าติดขัดในปัญหากฎหมายแต่ภาคเอกชนเห็นว่าน่าจะมีช่องทางทำได้ โดยอาจจะต้องแก้กฎหมายบ้างก็ตาม

.

2.ขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างในพื้นที่ชายแดนใต้ 5% ส่วนที่รัฐและนายจ้างต้องสบทบฝ่ายละ 5% ยังคงเดิม ซึ่งที่ผ่านมาเคยขอให้ลดภาระนี้แก่ลูกจ้างไปแล้ว แต่ติดขัดปัญหากฎหมายประกันสังคมไม่เอื้อ ครั้งนี้จึงให้รัฐบาลใช้งบประมาณจ่ายแทนและ3.ขอให้รัฐบาลขยายพื้นที่ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือด้านการประกันภัยการก่อการร้ายจาก 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล กับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย เป็นเต็มพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ หรือรวมพื้นที่ จ.สงขลา ทั้งจังหวัดเนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทประกันได้เพิ่มเบี้ยประกันในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้เท่าเทียมกันหมด แต่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือมาแล้วไม่เต็มพื้นที่ด้วยการออกเงินสมทบค่าประกันภัยในส่วนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการ