เนื้อหาวันที่ : 2011-05-04 17:08:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 945 views

ก.พลังงาน ปลื้ม IEA ยกแผนรับวิกฤตพลังงานไทย เป็นแบบอย่างที่ดีในอาเซียน

         กระทรวงพลังงานปลื้ม ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ยกย่อง “แผนการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย” เป็นแบบอย่างที่ดีในระดับอาเซียน

         นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมประเมินแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย (EMERGENCY RESPONSE ASSESSMENT (ERA) for THAILAND โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการด้านพลังงาน ณ ห้องประชุมชั้น 15 อาคารบี กระทรวงพลังงาน

          นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้จัดทำการซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศเพื่อเป็นแนวทางรองรับสถานการณ์ด้านพลังงานในสภาวะวิกฤตเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศไทยหากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานขาดแคลน

โดยกระทรวงพลังงานได้รับความร่วมมือจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ( International Energy Agency : IEA) ในการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้ามาประเมินและวิเคราะห์ความพร้อมในการทำแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย เมื่อวันที่ 21-23 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา โดยได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ถึงความเชื่อมโยงและกลไกความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขสภาวะวิกฤตด้านพลังงานหากเกิดขึ้นในอนาคต

          โดยผลการประเมินครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้รับการยอมรับจาก IEA ว่าการจัดทำแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศไทย เป็นต้นแบบที่ดีในระดับอาเซียนซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของ IEA โดยมีการเน้นถึงความเชื่อมโยงของผลกระทบในระดับภูมิภาคที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินมาตรการร่วมกัน

รวมถึงผลการประเมินฯ ได้บ่งชี้ถึงประเด็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานซึ่งจะได้ข้อเสนอแนะในระดับ Best Practice อาทิ การกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และการกระจายที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ

          ทั้งนี้ การประเมินแผนฯของIEA ดังกล่าวยังถือได้ว่า ประเทศไทยเป็นชาติแรกของโลกที่ IEA ประเมินแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานให้แก่ประเทศที่อยู่นอกกลุ่มประเทศสมาชิก (Non-Member) และถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือรูปแบบใหม่ของประเทศนอกกลุ่มสมาชิก โดยจะมีการยึดประเทศไทยเป็นต้นแบบของกรอบความร่วมมือในระดับ Advance กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ IEA ต่อไปอีกด้วย