1. เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 54 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
- ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสแรกปี 54 ยังเติบโตได้ในระดับที่ดีและคาดว่าไตรมาสแรกน่าจะขยายตัวต่ำกว่าระดับร้อยละ 4 เนื่องจากฐานช่วงเดียวกันปีก่อนสูง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จากผลกระทบภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม จะได้แรงขับเคลื่อนมาจากทั้งอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าทั้งปี 54 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.1 (คาดการณ์ ณ เดือนเม.ย. 54)
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 54 จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 54 ได้ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ระดับ 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30บาท/ลิตร จะช่วยราคาสินค้าไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะช่วยลดแรงกัดดันเงินเฟ้อ โดยทั้งปี 54 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54)
2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 18.20
- รมว.เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน มี.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 167.49 หรือขยายตัวร้อยละ 18.20 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือได้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาจะลดลงจากเดือน ก.พ. 54 ที่เคยขึ้นสูงสุด โดยมีสินค้าหลักที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน
- สศค. วิเคราะว่า การที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 54 ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานค่อนข้างตึงตัว เนื่องจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนจากปรากฏการณ์ลานินญา
ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน และส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (Real Farm Income) ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 36.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคชนบท
3. ดัชนี PMI ของจีนขยายตัวชะลอลงที่ระดับ 52.9
- สมาพันธ์โลจิสติกและการจัดซื้อแห่งชาติของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers index : PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือน เม.ย. 54 ร่วงลงแตะระดับ 52.9 จากระดับ 53.4 ในเดือน มี.ค. 54 ซื่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางชะลอลง ซึ่งถูกกำหนดโดยนโยบายควบคุมเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลจีน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนี PMI ของจีนที่ชะลอลงเล็กน้อยจากดือนก่อน มีสาเหตุจากการที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ได้ส่งผลกระทบให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอลง ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค. 54 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ปรับตัวสูงขึ้นไปยังระดับสูงสุดที่ร้อยละ 5.4
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีนได้มีการออกมาตรการเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อาทิเช่น การปรับเพิ่มอัตราส่วนการดำรงเงินสดทางการของธนาคารพาณิชย์มาอยู่ที่ร้อยละ 20.5 ของเงินฝาก และประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย One-year Lending Rate และ One-year Deposit Rate มาอยู่ที่ร้อยละ 6.31 และ 3.25 ตามลำดับ โดยสศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจกาคลัง