เนื้อหาวันที่ : 2011-04-29 10:59:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1477 views

เศรษฐกิจโลกฟื้น ภัยธรรมชาติ ดันส่งออกอาหารโต

สถาบันอาหารโปรยยาหอมคาดปี 54 มูลค่าการส่งออกอาหารแตะ 8 แสนล้าน รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกขยายตัว และภัยธรรมชาติ ขณะที่ยังเสี่ยงวัถุดิบแพง-ขาดแคลน

          สถาบันอาหารโปรยยาหอมคาดปี 54 มูลค่าการส่งออกอาหารแตะ 8 แสนล้าน รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกขยายตัว และภัยธรรมชาติ ขณะที่ยังเสี่ยงวัถุดิบแพง-ขาดแคลน

          3 องค์กรเศรษฐกิจ คาดยอดส่งออกอาหารปี 54 มูลค่า 855,000 ล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัว ร้อยละ 6.5 ใกล้เคียงกับปี 2553 ที่มีอัตราเติบโตร้อยละ 6.4 ชี้ได้อานิสงส์เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ4.4 และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันก็อาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาแพง จากความแปรปรวนของสภาพอากาศ และราคาพลังงาน ทั้งภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

ชี้อุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งจะขาดแคลนวัตถุดิบมากขึ้น หลังเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และสภาพอากาศแปรปรวน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังและน้ำมันปาล์ม เตือนผู้ประกอบการไทยควรเริ่มทำแผนบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อรับมือได้ทัน

จับตาญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในเชิงรุกหวังผลระยะยาวมากขึ้น โดยขยายฐานการลงทุนภาคเกษตร เช่น ข้าว สินค้าประมง ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และ ปศุสัตว์ไปยังภูมิภาคต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

          นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปี 2553 โดยการส่งออกจะมีมูลค่า 855,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ขณะที่ปี 2553 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดี ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ประกอบกับภาวะภัยพิบัติในญี่ปุ่น ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศในหลายพื้นที่ในโลก ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายสำคัญได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกบ้างเล็กน้อย

          ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 14-15 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวมในแต่ละปี ซึ่งตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละกว่า 113,000 ล้านบาท และเนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งประมงของญี่ปุ่นเสียหายจากภัยพิบัติและการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสีประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ

ทำให้คาดว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าอาหารของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น ไก่สุกแปรรูป, กุ้งแช่แข็งและแปรรูป, ทูน่าและปลาอื่นๆ กระป๋อง, ปลาทะเลสดแช่แข็ง, ผลไม้สดและแปรรูป รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและมีญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าสำคัญ

อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ที่ไทยได้รับอาจไม่มากนักเพราะยังมีข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ 1)อำนาจซื้อของคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงจากการที่ประชาชนจะเริ่มประหยัดการใช้จ่าย เนื่องจากยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ความปลอดภัยในอนาคต ซึ่งในระยะสั้นจะทำให้คนญี่ปุ่นชะลอการเดินทางท่องเที่ยวและกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่งดเดินทางไปญี่ปุ่น

ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้ารวมทั้งธุรกิจบริการร้านอาหารในญี่ปุ่นให้ซบเซาตามไปด้วย และ 2) ตลาดญี่ปุ่นยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้นที่ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอาหารในญี่ปุ่น แต่ยังมีประเทศคู่แข่งที่พร้อมให้ญี่ปุ่นเลือกนำเข้าอาหารได้อีกเป็นจำนวนมาก เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ครองตลาดอาหารในญี่ปุ่น

          อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นพึ่งพิงตนเองด้านอาหาร ได้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ต้องพึ่งพิงการนำเข้า จากวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิชิ ทำให้สินค้าเกษตรและประมงของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน รัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด ในฐานะบริษัทผู้นำเข้าอาหารจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตอื่นๆ ทดแทน เพื่อลดภาระการตรวจสอบและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าของตน

สำหรับสินค้าอาหารที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญ 10 อันดับแรก ข้อมูลจากกรมศุลกากรในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554 ได้แก่ 1.ทูน่าสกิปแจ็คแช่แข็ง 2.ปลาแม็คเคลเรลแช่แข็ง 3.ปลาแปซิฟิกแซลมอนแช่แข็ง 4.หมึกกล้วยแช่แข็ง 5.ของผสมที่ใช้ปรุงรุส 6.ส่วนผสมสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร 7.แป้งข้าวสาลี 8.ปลาทะเลอื่นๆ แช่แข็ง 9.ปลาซ็อคอายแซลมอนแช่แข็ง และ10.ปลาทูน่าครีบเหลืองแช่แข็ง

          “ภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายชนิดไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการสรรหาวัตถุดิบจากหลายๆแหล่ง เพื่อสามารถใช้ทดแทนกันได้ รวมทั้งการกระจายตัวของตลาด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรงหากเกิดปัญหากับประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นการวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อหาทางชะลอความรุนแรงของผลกระทบและแก้ปัญหาให้ลดความรุนแรงของผลกระทบลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ภายในเวลาที่สั้นที่สุด

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเริ่มทำแผนบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการติดตามสถานการณ์แหล่งวัตถุดิบและตลาดของตนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รับมือได้ทัน เพราะแนวโน้มในอนาคตภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมีความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น” นายเพ็ชร กล่าว

          นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถานการณ์การค้าอาหารไทยในไตรมาสแรกของปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยการส่งออกมีมูลค่า 222,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 78,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 ซึ่งอัตราขยายตัวของการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออกสะท้อนว่า รายได้จากการส่งออกปรับตัวไม่ทันกับการนำเข้า ซึ่งแม้ตัวเลขการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากกว่า จะส่งผลทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

          การส่งออกอาหารไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณ 8.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 มูลค่า 222,528 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าหลักๆ ได้แก่ ข้าว ไก่ ทูน่ากระป๋อง ผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูป มีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกขยายตัวดี ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพมากขึ้นโดยเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ

          สินค้าอาหารที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8, ทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3, ผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0, ไก่และสัตว์ปีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 และผัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1

อย่างไรก็ตาม มีหลายอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบทำให้การส่งออกลดลง อาทิ กุ้ง ปลาทะเล มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย เช่น การขาดแคลนมันสำปะหลังส่งผลทำให้การผลิตผงชูรส และอาหารสัตว์ชะลอตัว รวมทั้งต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

          ในไตรมาสแรกของปี 2554 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกอาหารโดยรวมของไทย ซึ่งสัดส่วนใกล้เคียงกับสถานการณ์ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 11, อันดับ 3 คือจีน สัดส่วนร้อยละ 8

          แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่า 211,734 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้ผลิตมีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิตเนื่องจากหลายอุตสาหกรรมยังคงประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะกุ้ง มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม

          อย่างไรก็ตามการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2554 มีปัจจัยสนับสนุนอยู่ 2 ประการคือเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวดี โดยปี 2554 ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 4.4 อีกทั้งภัยพิบัติ และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันก็อาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาแพง จากความแปรปรวนของสภาพอากาศจากต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงาน ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

          สำหรับนโยบายและทิศทางการปรับตัวของญี่ปุ่นนั้น มีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่บริเวณประสบภัยไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ไปอีกระยะหนึ่ง และน่าจะมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในเชิงรุกมากขึ้น โดยขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น

          เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศในระยะยาว โดยภูมิภาคที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจในการขยายฐานการผลิตอาหาร คือ เอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการขยายฐานการลงทุนอยู่ในกลุ่มที่ญี่ปุ่นพึ่งพิงตัวเองได้ไม่มาก เช่น ข้าว สินค้าประมง ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และปศุสัตว์

          ในปี 2553 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก แต่ส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.48 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 2.55 ในปี 2553 โดยไทยยังเป็นประเทศเกินดุลการค้าอาหารในอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเชีย โดยมูลค่าเกินดุลกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นรองแค่ บราซิล อาร์เจนติน่า สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าอาหารสูงที่สุดอันดับ 1 ถึง 4 ตามลำดับ

          “ส่วนประเทศที่ขาดดุลการค้ามากที่สุดในโลก คือญี่ปุ่น ขาดดุลเกือบ 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐรองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร รัสเซีย เยอรมนี จีน และเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ตามลำดับ และการเกินดุลการค้าของประเทศผู้ส่งออกสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับประเทศผู้นำเข้าสำคัญที่มีแนวโน้มขาดดุลการค้ามากขึ้น

สัญญาณดังกล่าวชี้ว่า ประเทศที่ผลิตและส่งออกสำคัญมีแนวโน้มต้องผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรในประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการให้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง 1 ใน 5 ของประชากรโลก กำลังเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้ส่งออกสุทธิมาเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารสุทธิมาตั้งแต่ปี 2551 โดยความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจีน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาอาหารโลกในปัจจุบัน แม้ในระยะสั้นราคาอาหารโลกจะมีความผันผวนมากตามอุปสงค์อุปทานสินค้าเกษตร

แต่ระยะยาวราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน หรือแม้แต่อินเดีย ซึ่งภายในไม่กี่ปีข้างหน้าคาดว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหารเป็นรายต่อไป” นายอมร กล่าว