นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูล Tokyo Metropolitan Government พบว่าปี พ.ศ. 2542-2551 มีคดีเพลิงไหม้กว่า 500 คดีที่เกิดจากการเล่นไฟแช็กของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และเด็กส่วนใหญ่ได้รับอันตราย ในบางประเทศได้ออกกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่ญี่ปุ่นมีเพียงมาตรฐานความปลอดภัยของภาคเอกชน ดังนั้น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) จึงได้ปรับปรุงกฏกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product Safety Law) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ปรับปรุงคำสั่งคณะรัฐมนตรีว่าด้วยความปลอดภัยสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product Safety Law) กำหนดให้ไฟแช็กเป็นสินค้าที่มีข้อกำหนดเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายจากการเล่นของเด็กและกำหนดให้การผลิตรวมทั้งการนำเข้าสินค้าไฟแช็กสอดคล้องตามมาตรฐาน ISO9994, ISO22702 และ EN13869
นายสุรศักดิ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าญี่ปุ่นบังคับใช้กฏหมายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ไทยส่งออกไฟแช็กไปญี่ปุ่นเป็นอันดับ 2 รองจากพม่า โดยในปี 2553 มีการส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 132 ล้านบาท ลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 22 ในปี 2554 (ม.ค.-ก.พ.) ส่งออก 24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 32 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรผลิตสินค้าไฟแช็กให้สอดคล้องตามมาตรฐานดังกล่าวก่อนส่งออกไปยังญี่ปุ่น
ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ