เนื้อหาวันที่ : 2011-04-27 09:39:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 869 views

สสปน.ชู ISO 22000 ยกระดับอุตฯไมซ์ไทย

สสปน. เปิดตัว มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ISO 22000 เพิ่มจุดขายไมซ์ไทยกระตุ้นผู้ประกอบการร่วมโครงการ ชูธงสนับสนุน พร้อมแข่งขันได้ในเวทีโลก

          สสปน. เปิดตัว มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ISO 22000 เพิ่มจุดขายไมซ์ไทยกระตุ้นผู้ประกอบการร่วมโครงการ ชูธงสนับสนุน พร้อมแข่งขันได้ในเวทีโลก

          สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ริเริ่มโครงการความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ ผลักดันผู้ประกอบการไมซ์ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร หรือ ISO 22000 มุ่งส่งเสริม พร้อมสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและการให้ความรู้ทุกรูปแบบ ยกขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์โลก

          นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมไมซ์ สสปน. กล่าวว่า “พันธกิจหลักอย่างหนึ่งของ สสปน. คือการสร้างศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านการพัฒนา (develop) ทั้งการสร้างบุคลากร และมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย

โดยเมื่อต้นปี สสปน. ได้ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและองค์กรในอุตสาหกรรมไมซ์ และได้ข้อสรุปที่ว่าความปลอดภัยด้านอาหารมีความสำคัญระดับต้นๆ เพราะเกี่ยวกับเรื่องภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถานที่จัดงาน

ประกอบกับอาหารไทยเป็นจุดขายของประเทศไทย การสร้างมาตรฐานของอาหารไทยให้อยู่ในระดับสากลภายใต้มาตรฐาน ISO 22000 จะเป็นกลไกที่ยกระดับให้อาหารไทยได้รับความเชื่อมั่นทั้งรสชาติและความปลอดภัยจากผู้ใช้บริการกลุ่มไมซ์ทั้งในประเทศ และนานาชาติ จึงเป็นที่มาของโครงการ ความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์”

          มาตรฐาน Food Safety ISO 22000 เป็นมาตรฐานด้านอาหารที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร ที่จะช่วยให้เกิดการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการอาหารปลอดภัยทั่วทั้งห่วงโซ่ (เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบในการปรุงอาหาร ระบบการปรุงอาหาร สถานที่ในการปรุงอาหาร จนถึงการส่งมอบอาหารแก่ผู้บริโภค) ให้เป็นแนวทางเดียว และยกระดับความปลอดภัยของอาหาร

เพื่อให้มั่นใจว่าอาหารที่ผลิตมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค สอดคล้องตามข้อกำหนดกฎหมายและได้คุณภาพตามที่ต้องการ มาตรฐานนี้เกิดขึ้นจากความรู้ และความห่วงใยในสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคทำให้มีความต้องการที่จะทำให้กระบวนการการผลิตอาหารได้รับการประกันความปลอดภัย

          “เราเน้นการให้การสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ให้ได้รับรองมาตรฐาน Food Safety ISO 22000 ทั้งด้านการกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน การจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร ตลอดจนเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษา ฝึกอบรม การติดตามประเมินผล การรับรองและการให้รับประกันมาตรฐานการจัดการความปลอดภัย

           ด้านการสนับสนุนงบประมาณ สสปน.จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เป็นจำนวนร้อยละ 70 ของยอดค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000 บาทต่อผู้ประกอบการไมซ์แต่ละราย ซึ่งจะเป็นค่าการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาตามกระบวนการรับรองมาตรฐาน โดยในปี 2554 นี้ เราตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ราย” นางนิชาภา กล่าวเสริม

          นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า กล่าวว่า “ทิก้าในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างใก้ชิดกับ สสปน. จึงนำมาสู่การหารือกัน ถึงความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของอาหารแก่ ผู้เข้ามาใช้บริการในกลุ่มไมซ์ทั้งจากในและต่างประเทศ และมาตรฐาน Food Safety ISO 22000 ก็เป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นจุดเด่นที่ผู้ประกอบการไมซ์ไทยจะได้ใช้มาตรฐานนี้ต่อยอดคุณภาพของอาหารและการบริการเพื่อรองรับความต้องการของตลาดไมซ์

          โดยทิก้าจะเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้น และชักจูงผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของทิก้าให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการการรับรองมาตรฐาน Food Safety ISO 22000 รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำผู้ประกอบการร่วมกับ สสปน. โดยผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของทิก้าจำนวนไม่น้อยที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองทางด้านคุณภาพมาตรฐานอาหารทั้งในส่วนของ GMP หรือ HACCP แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเองก็มองว่าอยากที่จะพัฒนาและยกระดับองค์กรของตนเองและการให้บริการให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปกว่ามาตรฐานที่ได้พัฒนาไว้ในเบื้องต้น

          “เราเชื่อมั่นว่าการยกระดับไปสู่มาตรฐาน Food Safety ISO 22000 จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไมซ์ได้เป็นอย่างดีในอนาคต ส่งผลให้มีความแข็งแกร่งในการที่จะไปแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดไมซ์ระดับนานาชาติได้” นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย

          สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ไทยที่เข้าร่วมงานสัมมนา สามารถแสดงความประสงค์ เข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 22000 โดย สสปน. จะรับสมัครในวันงานสัมมนา ทั้งนี้เมื่อผู้ประกอบการไมซ์ของไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน Food Safety ISO 22000 แล้วนั้น จะส่งผลในเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของทั้งผู้ประกอบการและภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยในด้านมาตรฐานของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร

ที่สำคัญ สสปน.จะนำชื่อขององค์กรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Food Safety ISO 22000 ไปประชาสัมพันธ์ในกิจกรรมเทรดโชว์และโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไมซ์ไทยอีกด้วย