เนื้อหาวันที่ : 2011-04-26 11:20:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 923 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 26 เม.ย. 2554

1. ไข่แพง ปุ๋ยแพง เร่งแก้ปัญหาด่วน
-  นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ ว่าได้มอบหมายให้ให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เร่งพิจารณาและเสนอเรื่องการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่และราคาปุ๋ยแพงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับปัญหาเศรษฐกิจนั่น มองว่าภาพรวมของตัวเลขเศรษฐกิจถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 54 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจะขยายตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต รวมถึงราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตอื่นๆ เช่น ราคาปุ๋ยที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวสูงขึ้นตาม สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเร่งขึ้น

โดยในเดือนมี.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 54 ที่ร้อยละ 2.9 อย่างไรก็ตาม การที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อรายได้เกษตรกรที่จะปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 54 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายในระดับสูงที่ร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวต่อเนื่องในปี 54

2. ไตรมาสแรกผู้คนเครียด ข้าวของแพง
-  บริษัท มายด์แชร์ (ประเทศไทย) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในโครการ     “คอนซูเมอร์ไวฟ” ในไตรมาสแรก 54 พบว่าผู้บริโภคมีความรู้สึกกังวลกับเรื่องราคาสินค้ามากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่อง การเมือง อาชญากรรม ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและภัยธรรมชาติ ขณะที่มีความรู้สึกดีกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  การช่วยเหลือสังคม และการปรับขึ้นเงินเดือน ตำแหน่ง และโบนัส

-  สศค.วิเคราะห์ว่า จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื่นฐานไตรมาสแรก 54 ที่ร้อยละ 3.0 และ 1.5 ตามลำดับ ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะมีส่วนช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยหากสามารถรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 30 บาท/ลิตรได้ตลอดทั้งปี 54 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6

แต่หากไม่มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจะพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 4.3 หรืออาจกล่าวได้ว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลมีส่วนช่วยลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 ลงได้   ร้อยละ 0.7 ซึ่งการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งนี้ จะช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 54 ขยายตัวได้ตามกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 4.0-5.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)

3. บีโอเจคาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวครึ่งปีแรก
-  ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) กล่าวว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะหดตัวในครึ่งแรกของปี 54 เนื่องจากการขัดข้องในภาคการผลิต หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ โดยเป็นผลมาจากการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งอาจยืดเยื้อไปถึงเดือนส.ค. 54 ทั้งนี้ BoJ จะประชุมเพื่อสรุปนโยบาย และเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีในวันที่ 28 เม.ย. 54

-  สศค. วิเคราะห์  ความเสียหายจากภัยพิบัติได้ส่งผลออกมาในตัวชี้วัดต่างๆ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือนมี.ค. 54 เท่ากับ 46.4 หดตัวลงจากเดือนก.พ. 54 ที่ 52.9 มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค 54 ลดลงร้อยละ 2.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. 54 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 38.3

เนื่องจากดัชนีองค์ประกอบด้านรายได้ การจ้างงาน และความต้องการซื้อสินค้าคงทนลดลง ผนวกกับปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ สะท้อนให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ผ่านทางภาคการผลิต การบริโภค และภาคการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง