เนื้อหาวันที่ : 2007-03-20 10:02:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1194 views

รัฐฯ เล็งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีก 13 ปี ไม่พึ่งพลังงานทดแทน

รัฐบาล "พอเพียง" ให้ กพช. เดินหน้าศึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบุต้นทุนก่อสร้างและเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ คาดใช้เวลาศึกษา 7 ปี ก่อนตัดสินใจก่อสร้าง หวังให้ไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 13 ปีข้างหน้า ชี้ในอนาคตนิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกที่สำคัญ

กพช. เดินหน้าศึกษาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบุต้นทุนก่อสร้างและเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติคาดใช้เวลาศึกษา 7 ปี ก่อนตัดสินใจก่อสร้าง หวังให้ไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 13 ปีข้างหน้า พร้อมอนุมัติร่างพ...ประกอบกิจการพลังงาน ก่อนเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบชี้ในอนาคตนิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกที่สำคัญ

.

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้หารือถึงการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม โดยเฉพาะด้านกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงบุคลากรหากไทยต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 13 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563  โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมี ดร.กอปร กฤตยากีรณ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เนื่องจากเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ โดยจะมีกรรมการอื่น ๆ ที่มาจากผู้แทนของส่วนราชการต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ

.

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้หารือร่วมกันถึงกรณีที่ไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีก 13 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะใช้เวลา 7 ปีในการศึกษา ก่อนจะเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจว่าไทยควรจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ส่วนการก่อสร้างคาดว่าจะใช้เวลา 7 ปีเช่นกัน ในอนาคตนิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกที่สำคัญ แต่การเตรียมการต้องใช้เวลา ดังนั้นเราควรศึกษาเตรียมการไว้ หากไม่เริ่มวันนี้ ก็ไม่มีทางรู้ว่าควรจะมีความเหมาะสมที่จะสร้างหรือไม่ อีก 7 ปีข้างหน้าก็น่าจะได้ข้อสรุปว่าเราพร้อมที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ขณะนี้มีหลายประเทศที่เดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเต็มที่แล้ว ทั้งจีน อินเดีย เวียดนาม ฟินแลนด์ ออสเตรีย ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าว

.

ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หากเทียบต้นทุนทั้งค่าก่อสร้างและเชื้อเพลิงแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุน 1.60 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินประมาณ 2 บาทต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี อยู่ที่ 2.30 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากพิจารณาต้นทุนแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีต้นทุนต่ำขณะที่เชื้อเพลิงประเภทอื่นนอกจากต้นทุนสูงกว่าแล้ว ราคาเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกด้วย เนื่องจากแหล่งก๊าซและน้ำมันแหล่งใหญ่มีน้อยลงส่วนแหล่งที่เหลือก็เป็นแหล่งเล็กๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะและสำรวจสูงมากโดยขณะนี้ต้นทุนการสำรวจและขุดเจาะสูงขึ้นไปกว่า 54% แล้ว ขณะเดียวกันพลังงานทดแทนก็พัฒนาไม่ทัน เห็นได้จากแสงอาทิตย์ที่ผ่านการพัฒนามากกว่า 4 ปี ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็ยังสูงอยู่

.

ปัจจุบันเราพึ่งก๊าซ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากแต่ปริมาณการผลิตก็เริ่มจำกัดต้องนำเอาแอลเอ็นจีมาใช้ในอนาคตมีราคาสูง ขณะเดียวกันภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็กำลังเป็นประเด็น ดังนั้นเราควรศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้เป็นทางเลือก  สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ในการเปิดประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี กระทรวงพลังงานจะไม่จำกัดเชื้อเพลิงแน่นอนดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อม เสนอโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้เงื่อนไขหรือคะแนนพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่เสนอโรงไฟ้าถ่านหินเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เปรียบในเรื่องต้นทุนอยู่แล้ว ส่วนความเสี่ยงอื่นเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเอาเอง

.

ที่ประชุมเห็นชอบร่างพ...ประกอบกิจการพลังงาน พ.…. โดยนำความเห็นจากการรับฟังบุคคลต่าง ๆ เช่น สหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) องค์กรเอกชน และความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาปรับปรุงร่างพ...ในบางประเด็น เช่น อำนาจในการกำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และการรอนสิทธิ์ในการวางสายส่งและท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการรอนสิทธิ์นั้น ควรเริ่มจากการเจรจาตกลงก่อน จึงมีการปรับปรุงร่างพ...เพื่อให้การรอนสิทธิ์ประชาชนมีน้อยที่สุด ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า