จีนสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ อีกรอบประกาศสร้างรถไฟข้ามทวีป ผ่านไทยพร้อมเล็งยึดไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าภายใต้ อี้อู๋ โมเดล อุตฯ ไทยจะตั้งรับอย่างไรให้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ
จีนสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ อีกรอบประกาศสร้างรถไฟข้ามทวีป ผ่านไทยพร้อมเล็งยึดไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าภายใต้ อี้อู๋ โมเดล อุตฯ ไทยจะตั้งรับอย่างไรให้ได้ประโยชน์เต็ม ๆ
ประเทศจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอันดับที่ 2 ถือเป็นประเทศที่ขยันสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ มากมายให้โลกต้องตะลึง กล่าวกันว่าเพียงแค่พญามังกรเคลื่อนตัวก็เกิดแรงสะท้านสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ล่าสุดจีนประกาศดังๆ ก้องโลกอีกครั้งว่าจะลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าข้ามทวีปเอเชีย รวมระยะทางกว่า 3,600 กิโลเมตร และต้องผ่านประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าจีนในประเทศไทย เงินลงทุน 45,000 ล้านบาท ที่คนไทยเริ่มคุ้นกับคำว่า “อี้อู๋” โมเดล
ภาพที่กำลังเกิดขึ้น นำมาซึ่งการตั้งคำถามในแง่ของผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ต่อกรณีดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “ทุนจีนบุกไทย : อุตสาหกรรมไทยจะอยู่หรือไป” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจชวนให้ขบคิดหลายแง่มุม ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการตั้งรับอย่างถูกวิธี เลือกใช้ประโยชน์จากโครงการยักษ์เหล่านี้ให้มากที่สุด
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดประเด็นเสวนาในเวทีนี้โดยให้ข้อมูลที่สำคัญไว้อย่างน่าสนใจว่า “รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN China Free Trade Area : ACFTA) อย่างมาก
มีการกำหนดชัดเจนว่าจะใช้อาเซียนเป็นตลาดระบายสินค้า เห็นได้จากมีการเตรียมพร้อมตามชายแดนของจีน ซึ่งชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือ การต้องเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกสำหรับการกระจายสินค้าโดยประกาศโครงการก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางรถไฟข้ามทวีปเอเซียหรือที่เรียกว่า “Trans-Asia Railway” มีระยะทาง 3,640 กม.เชื่อมโยงคุณหมิง ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
โดยจะเริ่มการก่อสร้างในวันที่ 25 เม.ย. 2554 ที่ประเทศลาวเป็นแห่งแรก และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2558 ใช้เงินลงทุน 7,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 210,000 ล้านบาท) เส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมลาวกับไทยผ่านเส้นรถไฟระหว่างหนองคายกับกรุงเทพฯ ที่มีระยะทาง 615 กม. เงินลงทุน 149,600 ล้านบาท
นอกจากนี้จีนมีกำหนดการลงทุนศูนย์กระจายสินค้าจีนที่เรียกว่า “China City Complex” บริเวณถนนบางนา-ตราด ด้วยเงินลงทุน 45,000 ล้านบาท ซึ่งลักษณะรูปแบบเหมือนกับศูนย์การค้าระหว่างประเทศอี้อู๋ (Yiwu International Trade City) ที่มลฑลเจ้อเจียงของประเทศจีน
การขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าและการลงทุนผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าถือได้ว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของ “ทุนจีน” เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าเชิงรุกที่ประชิดตัวผู้บริโภคไทยโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมและอยู่รวมอย่างลงตัวให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจึงจะเป็นการดี”
นายประเสริฐ วิทยาภัทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย ตัวแทนภาคเอกชนที่อยู่ใกล้ชิดเส้นทางรถไฟสายเศรษฐกิจ กล่าวว่า “ผลดีและผลเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อภาคการผลิตไทยอาจจะมองได้หลากหลายมิติ เนื่องจากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มองในแง่ผลดีคือ ทำให้ไทยสามารถที่จะส่งออกไปยังจีนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ไทยควรมองว่าจีนเป็นคู่ค้าไม่ใช่คู่แข่ง ถึงแม้ว่าสินค้าเกษตรของจีนจะถูกกว่าไทย แต่คาดว่าจีนจะไม่พัฒนาทางด้านการเกษตร แต่จะเน้นพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้น ในกรณีของสินค้าเกษตรไทยควรที่จะหลีกเลี่ยงที่จะแข่งขันในผลไม้ เนื่องจากจีนถูกกว่า ควรหันไปพัฒนาไปที่สินค้าได้เปรียบ เช่น ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากจีนมีอากาศหนาวทำให้ผลผลิตไม่สามารถสู้ประเทศไทยได้
ขณะเดียวกันประเทศไทยควรเน้นสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีศักยภาพดีกว่าจีน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ไทยมีข้อเสียเปรียบด้านการขนส่งทางน้ำ หากมีรถไฟความเร็วสูงจะถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ต้นทุนการขนส่งของไทยลดลง และทำให้สามารถส่งออกไปจีนได้มากขึ้น
ภาคส่วนต่างๆ ในต่างจังหวัดยังไม่ทราบข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อค้าและนักธุรกิจ ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในส่วนนี้มากขึ้น โดยรัฐบาลควรเร่งสร้างความเข้าใจตลอดจนให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น การเตรียมความพร้อมด้านภาษาจีน เป็นต้น อย่างไรก็ดีหวังว่าในอนาคตจะมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางขึ้น”
นอกจากนี้ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวถึงประเด็นศูนย์กระจายสินค้าจีนในไทยว่า “เมื่อประมาณ 10 ปีผ่านมา เมื่อจีนเริ่มเข้ามาทำการค้ากับลาว จะทยอยเข้ามาทีละน้อยจนกระจายอย่างทั่วถึงลักษณะตั้งตลาดจีนในทุกจังหวัดของลาว โดยคนจีนเป็นเจ้าของกิจการเองและใช้คนในท้องที่ของลาวเพียง 1 - 2 คน เท่านั้นเป็นลูกจ้างช่วยงาน ตามยุทธศาสตร์ของจีนในการทำตลาดในลาว คือ 1. จีนสร้างตลาดให้ผู้ประกอบการจีน 2. จีนให้ทุนผู้ประกอบการไปค้าขายในลาว
อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินค้าของจีนยังต่ำกว่าไทยมาก ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในลาว มีการขายสินค้าไทยประมาณ 50% ในสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าจีนจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สมุด ดินสอ แก้ว และเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคที่ค่อนข้างฐานะดีจะเลือกซื้อสินค้าไทย เพราะฉะนั้น ไทยยังคงได้เปรียบในแง่ของคุณภาพสินค้า
สำหรับการสร้าง China City Complex นั้น มีความเห็นว่า อาจจะไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบมาก เนื่องจากสินค้าไทยน่าจะยังขายได้เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ไทยควรไปตั้งศูนย์แสดงสินค้าของไทยในต่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับอย่างมากในตลาดโลก โดยส่วนตัว มีความเห็นว่า รัฐบาลยังไม่ให้การสนับสนุนเงินลงทุนให้เอกชน รวมถึงไม่กล้าเข้าไปลงทุนเอง
นอกจากนี้ควรมีการผลักดันให้เกิด EXIM Bank ที่บริเวณชายแดนน่าจะมีประโยชน์ และ ควรมีการส่งเสริมให้ SME ออกไปลงทุนค้าขายยังต่างประเทศ โดยรัฐบาลควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น การให้เงินกู้ เป็นต้น หรือในลักษณะของการที่รัฐบาลออกไปสร้างตลาดและให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ”
นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมให้ข้อคิดเห็นจากทั้ง 2 ประเด็น ว่า “การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงและศูนย์กระจายสินค้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับโลจิสติกส์ทั้งสิ้น และถือปฐมบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC ) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดเดียว และเมื่ออาเซียนไปบวกกับจีนกลายเป็นอาเซียน-จีน (ASEAN China Free Trade Area : ACFTA) ยิ่งมีความซับซ้อนอีกมาก ในส่วนของเส้นทางรถไฟจีน – ลาวนั้น ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการทบทวนนโยบายบางประการเนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศลาว สำหรับเส้นทางที่จะเชื่อมต่อกับไทยนั้น ในมุมมองของภาคอุตสาหกรรม เห็นว่าควรมีการสนับสนุนให้มีการเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยสามารถที่จะใช้ได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในมุมของไทย - จีน และ AEC นั้น ไทยจะต้องจับตามองประเทศจีนตลอดเวลา การรู้เขารู้เราจะทำให้ไทยได้ประโยชน์
สำหรับในแง่ของการค้าชายแดนนั้น ในแง่ของภาคอุตสาหกรรมพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ประมาณ 0.9% ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตด้านเครื่องจักรเหลือประมาณ 60% ซึ่งถ้าไทยไม่สามารถนำแรงงานต่างชาติมาช่วยจะทำให้เกิดปัญหา เพราะมีเครื่องจักรแต่กลับไม่มีแรงงาน จึงจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าว แรงงานพม่ามีอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ถ้าหากมีการโยกย้ายกลับประเทศหมดอาจกระทบกับเศรษฐกิจและภาคการผลิต ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้งโรงงานในแถบชายแดน ดังนั้น จึงมีความคิดเห็นว่านโยบายด้านแรงงานถือเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง
ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ จากความเห็นที่รับฟังมาเห็นว่า China City Complex มีความสับสนและยังไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะว่ายังมีความไม่ชัดเจนสับสนหลายเรื่อง ดังนี้
1. การสนับสนุนของรัฐบาล
2. เข้าใจว่าได้สร้างแล้วแต่แท้จริงยังไม่ได้เริ่มสร้าง ซึ่งมีข่าวว่ามีการเริ่มลงทุนก่อสร้างแล้ว แต่ยังไม่มีการสร้างจริง
3. ข่าวการถือหุ้นของคนไทยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มไหน
4. จีนอาจใช้ไทยเป็นฐานส่งออก โดยนำสินค้าจากจีนมาสวมสิทธิ์ไทยในการส่งออก
5. สินค้าคุณภาพต่ำจะไหลเข้าเมืองไทย
6. ความสับสนในเรื่องรายละเอียด เช่น พื้นที่ก่อสร้าง และจำนวนผู้ประกอบการ เป็นต้น
7. มีการนำเสนอว่าเป็นทั้งศูนย์ค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งถ้าเป็นการค้าปลีกจะต้องเข้ากติกาการค้าปลีก คือ คนไทยจะต้องถือหุ้น 51% ถึงจะทำการค้าได้
มาตรฐานสินค้า ปัญหาสินค้าคุณภาพต่ำที่ไม่ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ การลงทุนดังกล่าวในอนาคตอาจห้ามไม่ได้ แต่ไทยเองจะต้องมีการดูแล มีกฎกติกาที่ดีในเรื่องมาตรฐานสินค้า ความปลอดภัยและเป็นธรรม ซึ่งสามารถป้องกันอย่างรัดกุมได้
นายคมสรรค์ วิจิตรกรม ประธานศูนย์บริการส่งออกโบ๊เบ๊ และอุปนายกสมาคมชาวโบ๊เบ๊ กล่าวว่า การสร้างศูนย์แสดงสินค้านานาชาติไทย- จีน หรือ China City Complex ทำให้ได้มีการประสานงานกับผู้ประกอบการ SME เป็นหลัก ประมาณ 20,000 กว่ารายในละแวกพื้นที่ ในการที่จะตั้งรับกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น
ซึ่งในตลาดภายในประเทศที่มีระดับกลางถึงระดับล่าง จะเห็นได้ว่า Consumption ของตลาดจะกระจุกตัวอยู่ 3 จุด ซึ่งได้แก่ โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และจตุจักร มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรายย่อยที่อยู่ในตลาดค้าส่งนี้ เป็นฐานหลักในการกระจายสินค้าให้ 76 จังหวัด ดังนั้นหากมีการจัดตั้ง China City Complex ขึ้นมาอาจทำให้ตลาดส่วนนี้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้แบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 ส่วน ได้แก่ Trade Logistic และ Property ดังนี้
1. Trade มีแนวคิดว่าหากมีการเกิด China City Complex ขึ้นมา คงเป็นสิ่งที่ยับยั้งได้ยาก ดังนั้น ควรหาวิธีที่จะดำเนินการและดำรงอยู่ต่อไปได้ หรือเดินไปด้วยกันได้ เช่น คนที่เคยเป็นเอเย่นต์ควรเจรจาหรือตกลงกับผู้ค้ารายย่อยก่อนที่จะนำสินค้าเข้ามา โดยเจรจาในเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ และควรมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ไทยเสียบเปรียบ
เนื่องจากการที่จีนเข้ามาสร้าง China City Complex ก็เพื่อต้องการให้คนจีนนำสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาขาย ซึ่งการที่จีนเข้ามามีหน้าร้านในประเทศไทย จะทำให้มูลค่าการค้าของไทยลดลง ความมั่นใจในแบบและดีไซน์จะลดลงในกรณีของบริษัทที่จ้างให้ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตให้ ดังนั้น ทางออก คือ ไทยต้องเจรจาขอเป็นเอเย่นต์ในสินค้าที่จีนผลิตอยู่
2. Logistic ในที่นี้กล่าวถึงโลจิสติกส์ในระดับใกล้ตัว กล่าวคือ ในพื้นที่เศรษฐกิจ 3 แหล่ง ซึ่งได้แก่ โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และจตุจักร ซึ่งผู้ประกอบการในต่างจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จากเดิมที่เคยซื้อจากแหล่งสินค้าส่ง 3 แหล่งของไทย หากมี China City Complex เกิดขึ้นจะทำให้เกิด Logistic Base ไปอยู่ตรงจุดนั้น ตลาดต่างจังหวัดที่ไม่เน้นดีไซน์จะหายไป
โดยจะมุ่งหน้าไปซื้อที่ China City Complex โดยตรง เพื่อไปซื้อสิ่งที่ถูกกว่าเนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนนำเข้ามาขายเองโดยไม่ได้ผ่านเอเย่นทั้ง 3 ตลาดนี้แล้ว จึงทำให้มีการถ่ายเทโลจิสติกส์ไปอยู่ที่จุด China City Complex ซึ่งถ้าหากจีนสามารถบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี จะทำให้จีนสามารถชี้นำโลจิสติกส์ในอนาคตได้
3. Property กล่าวคือ มูลค่าของตลาดโบ๊เบ๊ ประตูน้ำ และจตุจักรจะลดลง การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษาในเรื่องของ AEC เพื่อที่จะทดแทนในส่วนที่ไทยขาดหายไปในเรื่องของมูลค่าต่างๆ ในการพัฒนาและออกแบบสินค้า เพื่อเกิด Young Designer พร้อมกับการสอนให้เป็นผู้ค้าด้วย ทั้งนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในการเป็นสินค้าของไทย ซึ่งจะสามารถแบ่ง Label และ Market ได้อย่างชัดเจน
สำหรับในส่วนแนวโน้มของธุรกิจที่ผลิตเพื่อขายหน้าร้าน ควรใช้ Knowledge Base ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อสร้างความแตกต่างในด้านคุณภาพไม่ใช่เป็นการสร้างวิธีการผลิตแข่งกับจีน นอกจากการตั้งรับแล้ว ในส่วนของธุรกิจ SME ควรมีแนวคิดในแนวรุกด้วย โดยการทำตลาดในต่างประเทศเช่นเดียวกับ China City Complex เนื่องจาก SME ไทยจำนวนหนึ่งมีความพร้อมและมีศักยภาพเพียงพอ พร้อมทั้งมีความต้องการทำตลาดในต่างประเทศด้วย จึงควรได้รับการสนับสนุนตรงจุดนี้
ทั้งหมดนี้คือมุมมองที่หลากหลาย ที่ร่วมกันวิเคราะห์ถึงผลกระทบและแง่มุมทางออกเพื่อสร้างความลงตัว เมื่อไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเรียนรู้เพื่อได้ประโยชน์ร่วมกันหรือคำฝรั่งที่เขาเรียกว่า WIN-WIN เพียงแค่นี้ก็จะสามารถฝ่าผ่านทุกอุปสรรคได้อย่างปลอดภัย