เนื้อหาวันที่ : 2011-04-22 17:20:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1053 views

เตือนธุรกิจอาหารทะเลติดตาม พ.ร.บ. ใหม่ของสหรัฐฯ

          กรมการค้าต่างประเทศ เตือนผู้ประกอบการอาหารทะเลติดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ

          นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 วุฒิสมาชิก David Vitter พรรครีพับลิกัน แห่งรัฐหลุยส์เซียนา ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานความปลอดภัยอาหารทะเลนำเข้า (Imported Seafood Safety Standard Act: S. 2934) ต่อวุฒิสภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลให้ได้คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย

          ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลในต่างประเทศปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐฯและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ส่งออกหากพบว่าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือติดฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง โดยกำหนดสัดส่วนในการตรวจสอบสินค้านำเข้าดังนี้

          1. สินค้าอาหารทะเลนำเข้าทุกชนิดจะถูกสุ่มตรวจอย่างต่ำร้อยละ 20

          2. สินค้าอาหารทะเลนำเข้าโดยผู้ส่งออกรายใหม่จะถูกตรวจสอบ 100% ใน 15 Shipments แรก

          3. หากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าจะถูกตรวจสอบ 100% ในการนำเข้าครั้งต่อไปจนกว่าจะผ่านมาตรฐานครบ 15 Shipments ติดต่อกัน

          4. หากพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในรอบปีปฏิทิน ผู้ส่งออกและประเทศผู้ส่งออกจะถูกห้ามส่งออกมายังสหรัฐฯเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจึงสามารถส่งออกได้แต่ต้องปฎิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐฯและสินค้าจะถูกตรวจสอบ 100% เป็นเวลา 1 ปี

          5. หากสินค้าจากผู้ส่งออกในต่างประเทศไม่ผ่านการตรวจสอบบ่อยครั้ง สหรัฐฯสามารถสั่งห้ามนำเข้าได้จนกว่าจะเห็นว่าประเทศผู้ส่งออกปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐฯ

          ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบแต่ FDA สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออกเพิ่มเติมได้

          นายสุรศักดิ์ ฯ กล่าวเพิ่มว่าสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลที่สำคัญของไทย โดยในปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปสหรัฐฯ มูลค่า 26, 667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 10 และในปี 2554 (ม.ค-ก.พ) ส่งออก 2,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 21

          อย่างไรก็ดีเนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารทะเลมากกว่าร้อยละ 80 ของการบริโภคในประเทศ พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ร้านอาหารและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

อีกทั้งมีกฏหมายควบคุมความปลอดภัยอาหารอยู่แล้วแต่เดิม คือ Federal Food, Drug and Cosmetic Act จึงไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายเฉพาะด้านความปลอดภัยของอาหารทะเล ดังนั้น ร่างกฏหมายฉบับนี้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wif.louisiana.gov