เนื้อหาวันที่ : 2011-04-21 14:52:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2088 views

บีโอไอ นำนลท.บุกตลาดใหม่ในแอฟริกา

บีโอไอ นำทัพนักลงทุนไทยบุก ยูกันดา - เคนยา หาทางลงทุนกลุ่มบริการและโครงสร้างพื้นฐาน สบช่องต่อยอดเป็นแหล่งกระจายสินค้าไทยตีตลาดแอฟริกา

นางอรรชกา สีบุญเรือง
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ )

           บีโอไอ นำทัพนักลงทุนไทยบุก ยูกันดา - เคนยา หาทางลงทุนกลุ่มบริการและโครงสร้างพื้นฐาน สบช่องต่อยอดเป็นแหล่งกระจายสินค้าไทยตีตลาดแอฟริกา

           นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 24 – 30 เมษายน 2554 บีโอไอจะเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุน ณ สาธารณรัฐยูกันดา และสาธารณรัฐเคนยา หลังจากวิเคราะห์โอกาสและลู่ทางการลงทุนกลุ่มประเทศตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกาตะวันออก พบว่าอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมที่ยูกันดาและเคนยาต้องการ จึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุน

          กิจกรรมสำคัญของการศึกษาลู่ทางการลงทุนครั้งนี้ จะหารือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมของยูกันดาและเคนยา เพื่อวิเคราะห์โอกาสและศึกษากฎระเบียบในการทำธุรกิจของนักลงทุนไทย หลังจากนั้นจะพบกับนักธุรกิจและบริษัทชั้นนำของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเด่นที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพและความพร้อม

          “นอกเหนือจากประเทศในอาเซียน และเอเชียใต้แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปเปิดตลาด ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาอย่างยูกันดาและเคนยา ที่เป็นกลุ่มประเทศคาดหวัง แม้ที่ผ่านมาการลงทุนของไทยในประเทศเหล่านี้จะไม่มาก แต่ยังมีโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มโอกาสในการกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศอื่นในกลุ่มแอฟริกาตะวันออก เพราะเคนยาเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน รวมทั้งศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ” เลขาบีโอไอกล่าว

          สำหรับยูกันดานั้น มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจในยูกันดา ที่ผ่านมาภาคเกษตรกรรมถูกปรับลดระดับความสำคัญลง ขณะที่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีความสำคัญมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งเกิดจากการเติบโตของภาคโทรคมนาคม และการบริการเพื่อการท่องเที่ยว

          ส่วนเคนยาอยู่ในระหว่างการเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ตั้งแต่ ถนน รถไฟ ไฟฟ้า ประปา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งธุรกิจก่อสร้างไทยน่าจะมีบทบาทเข้าไปรองรับงานก่อสร้างจากการลงทุนดังกล่าวได้

ที่มา : บีโอไอ