INET ปฏิวัติรูปแบบการอ่าน ผลักดันบริการ วาจา จัดทำตัวหนังสือพูดได้บนอินเทอร์เน็ต
INET ปฏิวัติรูปแบบการอ่าน ผลักดันบริการ “วาจา” จัดทำตัวหนังสือพูดได้บนอินเทอร์เน็ต
หลังจากที่ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต จับมือร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้บริการแปลงข้อความเป็นภาษาไทยหรือบริการวาจา เวอร์ชั่น 6.0 เชิงพาณิชย์ในรูปแบบเว็บบริการรายแรก ล่าสุดไอเน็ตเตรียมแผนบุกตลาดเว็บไซต์ นิตยสารและวารสารออนไลน์ เดินหน้าจัดทำโครงการตัวหนังสือพูดได้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางการอ่านและส่งเสริมทักษะแก่ ผู้พิการทางสายตา
นายไพโรจน์ ศุภมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ผ่านมาไอเน็ตมีการปรับทิศทางธุรกิจโดยมุ่งเน้นด้านความร่วมมือกับผู้ถือหุ้นและพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ที่แตกต่างและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไอเน็ตได้พิสูจน์คุณภาพในฐานะผู้ให้บริการที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนมานานกว่า 16 ปี
จากความเชื่อมั่นของลูกค้า ผู้ถือหุ้นและพันธมิตรทางธุรกิจทำให้ไอเน็ตได้รับลิขสิทธิ์ในการเป็นผู้ให้บริการโปรแกรมวาจา 6.0 เชิงพาณิชย์ในรูปแบบเว็บบริการรายแรกในประเทศไทยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ซึ่งทางไอเน็ตเองก็เชื่อมั่นว่าเราเป็นผู้ให้บริการด้านไอทีที่มีความพร้อม ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ จึงมั่นใจว่าเราจะพัฒนาและให้บริการโปรแกรมวาจาให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละกลุ่มธุรกิจและผู้ใช้งานทั่วไประดับEnd Userได้”
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า “ไอเน็ตมีแผนให้บริการวาจาครบวงจร เพียงลูกค้าหรือหน่วยงานที่สนใจบริการวาจาสามารถนำเนื้อหา หรือข้อความสำหรับบนเว็บไซต์หรือนิตยสารออนไลน์ส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมาให้เรา ทางไอเน็ตจะนำข้อความมาแปลงเป็นเสียงพูดด้วยบริการวาจาและประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเว็บไซต์ นิตยสารออนไลน์ หรือประกาศต่างๆภายในองค์กร
ซึ่งองค์กรธุรกิจที่ไอเน็ตมีความเชื่อมั่นว่าบริการวาจาจะสามารถเข้าไปเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ ได้แก่ ธุรกิจสื่อสารมวลชนทุกแขนง เช่น สื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารออนไลน์ องค์กรธุรกิจภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเพิ่มช่องทางการสื่อสารหรือเพิ่มมูลค่าบนหน้าเว็บไซต์ให้อ่านออกเสียงได้ โดยปัจจุบันมีสื่อใหญ่ระดับประเทศได้ให้ความสนใจและติดต่อไอเน็ต ในการนำบริการวาจาช่วยเสริมรูปแบบการบริการและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบและคาดว่าจะสามารถให้บริการอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้”
“นอกจากนี้ไอเน็ตยังมองเห็นถึงโอกาสสำหรับการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นเราได้จัดเตรียมแผนในการเข้าร่วมกับกลุ่มมูลนิธิฯและโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศในการนำบริการวาจา เข้าไปช่วยในด้านส่งเสริมการอ่าน และค้นคว้าข้อมูลบนเว็บไซต์ของเยาวชนและผู้ที่มีข้อจำกัดทางการอ่าน โดยจะดำเนินการควบคู่กันไปกับบริการเชิงพาณิชย์” นายไพโรจน์กล่าวเสริม