เนื้อหาวันที่ : 2011-04-19 11:29:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1500 views

แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นกับแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทย

สศค.ประมาณการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2554 ประมาณ 0.1% ผ่านช่องทางการค้าสินค้าและบริการ และช่องทางการลงทุน

แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นกับแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทย1

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
- เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยผ่านช่องทางการค้าสินค้าและบริการโดยไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน และช่องทางการลงทุน โดยนักลงทุนญี่ปุ่นมีการลงทุนทางตรงสุทธิในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 1 นอกจากนี้ ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังได้ส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินในภูมิภาคอีกด้วย

- สศค. วิเคราะห์ว่า
          o การส่งออกสินค้าของไทยและการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น จะได้รับผลกระทบมากโดยเฉพาะในระยะสั้น
          o ด้านการลงทุนโดยตรงคาดว่า การลงทุนเดิมจากญี่ปุ่นจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่การลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นคาดว่าจะชะลอลงในระยะสั้นถึงปานกลาง
          o ด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง
          o ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายคาดว่าในระยะสั้นจะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปสู่ญี่ปุ่นและเป็นปัจจัยให้เงินบาทอ่อนค่าลง

โดย สศค. ประมาณการณ์ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นในเบื้องต้นจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ประมาณร้อยละ 0.1 จากกรณีฐาน

1. บทนำ
เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้ก่อความเสียหายให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทั้งจากความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน และความเสียหายจากการชะงักงันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และเนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะลามมาสู่เศรษฐกิจไทย

บทความนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านช่องทางภาคเศรษฐกิจจริง (การค้าสินค้าและบริการ และการลงทุน) และช่องทางภาคการเงิน (เงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงิน) โดยมีรายละเอียดดังนี้

2. ผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ
2.1 การส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากโดยเฉพาะในระยะสั้น
ทั้งจากผลกระทบโดยตรง (ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นโดยตรง) และผลกระทบทางอ้อม (ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น) กล่าวคือ

• ผลกระทบทางตรง
ในปี 2553 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่าทั้งสิ้น 20,416 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและอาหารแปรรูป ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า และไก่แปรรูป ดังมีรายละเอียดตามภาพที่ 1

ทั้งนี้ คาดว่าในระยะสั้นการส่งออกยางพาราและไก่แปรรูปอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นมากที่สุด เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกยางพาราอันดับ 3 ของไทย สัดส่วนร้อยละ 13.8 ของการส่งออกยางพารารวมในปี 2553 ในขณะที่ไทยส่งออกไก่แปรรูปไปยังญี่ปุ่นเป็นอันดับ 2 รองจากสหภาพยุโรป สัดส่วนร้อยละ 46.5 ของการส่งออกไก่แปรรูปรวมในปี 2553 อย่างไรก็ตามผลกระทบของการส่งออกไก่แปรรูปและสินค้าหมวดอาหารอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบเพียงในระยะสั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในช่วงภัยพิบัติ

ภาพที่ 1 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกไปยังญี่ปุ่นรวม ปี 2553

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ คำนวณโดยสศค.

• ผลกระทบทางอ้อม
ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมิได้มีเพียงผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทย เช่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต่างพึ่งพาการส่งออกหลักไปยังตลาดญี่ปุ่นด้วยเช่นเดียวกัน ดังแสดงในภาพที่ 2

ซึ่งประเทศดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปญี่ปุ่นที่ลดลง ซึ่งจะส่งผ่านผลกระทบมายังภาคการส่งออกของไทยในที่สุด ดังนั้น Exposure ของภาคการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่น ที่รวม Exposure ทางอ้อมไปด้วยจึงสูงกว่าร้อยละ 10.5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนนี้ จะได้ประเมิน Exposure ทางอ้อมต่อภาคการส่งออกของไทย เพื่อให้หาความเสี่ยงของภาคการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นทั้งหมด

ภาพที่ 2 สัดส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นต่อมูลค่าส่งออกรวมของแต่ละประเทศ ในปี 2553

ที่มา: CEIC คำนวณโดยสศค.

ในการประเมินผลกระทบทางอ้อมนั้น จะคำนวณ Exposure ต่อภาคการส่งออกของไทยผ่านสัดส่วนการส่งออกเป็นรอบๆ ไป โดยในรอบแรก (First Round Exposure) เกิดจากการที่ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของไทยที่มิใช่ญี่ปุ่น (เช่น สหรัฐฯ) และประเทศดังกล่าวส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นต่อไป

สำหรับในรอบที่ 2 (Second Round Exposure) จะเกิดจากการที่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า (เช่น จีน) แล้วประเทศดังกล่าวส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่มิใช่ญี่ปุ่น (เช่นจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ) แล้วคู่ค้าดังกล่าว (ในกรณีนี้ คือสหรัฐฯ) จึงส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น2 ดังแสดงตัวอย่างในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 ตัวอย่างแสดงผลกระทบทางตรงและทางอ้อมของการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่น

จากการประเมินผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นรวม 5 รอบ (รอบที่ 1 ถึง 5) สามารถสรุป Exposure ของภาคการส่งออกสินค้าของไทยไปญี่ปุ่น ผ่านสัดส่วนส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นที่แท้จริง ซึ่งรวมทั้งผลทางตรงและทางอ้อมได้ประมาณร้อยละ 15.6 ของภาคการส่งออกสินค้าทั้งหมด ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สรุปสัดส่วนส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่น

ที่มา: คำนวณโดยสศค.

2.2 การนำเข้าสินค้าของไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก แต่เป็นผลกระทบในระยะสั้น
เนื่องจากกว่าร้อยละ 20.8 ของมูลค่านำเข้าโดยรวมของไทยในปี 2553 เป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยสินค้านำเข้าหลักจากญี่ปุ่นมักจะเป็นสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า และแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งการนำเข้าสินค้าทุนของไทยดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากปัญหาติดขัดในการขนส่งสินค้าออกจากญี่ปุ่น

เนื่องจากข้อจำกัดด้านความพร้อมของท่าเรือ การคมนาคมและการจำกัดการใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ซึ่งก็จะกระทบต่อภาคการผลิตของไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากปัญหาดังกล่าวเรื้อรังก็อาจทำให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นแหล่งอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป

ภาพที่ 4 สินค้านำเข้าหลักจากญี่ปุ่นและสัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกไปยังญี่ปุ่นรวม ปี 2553

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ คำนวณโดยสศค.

3. ด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง
เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่มากนัก โดยในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 9.8 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย ซึ่งเป็นรองจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) และจากยุโรป ดังแสดงในภาพที่ 5 ขณะที่ด้านรายได้พบว่า ในปี 2553นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นใช้จ่ายในไทยทั้งสิ้น 32,024 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 5.1 ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ภาพที่ 5 สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2553

ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวบรวมโดย สศค.

4. ด้านการลงทุนโดยตรงคาดว่า การลงทุนเดิมจากญี่ปุ่นจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่การลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นคาดว่าจะชะลอลงในระยะสั้นถึงปานกลาง
ในปี 2553 การลงทุนโดยตรงสุทธิจากญี่ปุ่นมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,062.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.0 ของการลงทุนสุทธิทั้งหมดของไทย โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนสุทธิในไทยสูงที่สุด ดังแสดงในภาพที่ 6

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบการลงทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย แต่อาจจะส่งผลกระทบการลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นที่คาดว่าจะชะลอลงบ้างในระยะสั้น เนื่องจากญี่ปุ่นอาจต้องจัดสรรเงินเพื่อใช้ในการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง โรงงานและเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายในประเทศของตนเอง

ภาพที่ 6 สัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในปี 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

5. ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายคาดว่าในระยะสั้นจะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปสู่ญี่ปุ่นและเป็นปัจจัยให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมีการนำเงินกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้คาดว่ามีเงินทุนไหลออกจากประเทศไทยมากเป็นพิเศษในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง

ด้านผลกระทบต่อค่าเงินเยน คาดว่าเงินทุนที่ไหลกลับไปยังญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีกในระยะต่อไป จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 81.51 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ 15 มีนาคม 2554) อย่างไรก็ตาม มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่ารวมกว่า 20 ล้านล้านเยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินเยนไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก

ที่มา หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal (online) ณ วันที่ 15 มีนาคม 2554

6. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการค้าสินค้าของไทยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโดยตรงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดย สศค.ประมาณการว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นในเบื้องต้นจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ประมาณร้อยละ 0.1 จากกรณีฐาน โดยการบริโภคที่แท้จริงหดตัวเพียงเล็กน้อย ขณะที่การลงทุนและการส่งออกได้รับผลกระทบบ้างที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ ดังมีรายละเอียดตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ผลกระทบของเหตุการณ์เผ่นดินไหวและสึนามิต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

 


 

1 ผู้เขียน: ดร.สิริกมล อุดมผล และ ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ ดร. กุลกัลยา พระยาราช คุณธนิต ภัทรแสงไทย คุณคงขวัญ ศิลา และคุณกาญจนา จันทรชิต สำหรับข้อมูล และขอขอบคุณดร.ศรพล ตุลยเสถียร และดร.กุลยา ตันติเตมิท สำหรับคำแนะนำ

2 สำหรับในรอบต่อๆ ไป (รอบที่ 3, 4 และ 5) Exposure สามารถหาได้จากตรรกะทำนองเดียวกัน

 


 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง