กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เปิดตัว โครงการ CSR-DPIM ปีที่ 2 สร้างความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องกับการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแร่ดำเนินกิจกรรม CSR
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอจัดสัมมนาเปิดตัวโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ในวันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการ CSR-DPIM 2554 กล่าวว่า กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับ CSR ว่า ปัจจุบันกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับ Corporate Social Responsibility ได้รับการตอบรับจากหลายองค์กร ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยเฉพาะในโลกธุรกิจอุตสาหกรรม เนื่องจากปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานในทั่วทุกมุมโลก จึงได้มีการแสวงหาแนวคิดและแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดความสันติและการสานสัมพันธ์อันดีในการอยู่ร่วมกันในสังคม
ประกอบกับแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็ได้รับการยอมรับว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง และสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจยิ่งขึ้นด้วยทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญ ในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมทุกประเภททั่วประเทศดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมกันตอบแทนสังคมด้วย
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการ CSR-DPIM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่ นำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) พ.ศ.2554 ที่อ้างอิงมาตรฐาน ISO 26000 Guidance on Social Responsibility ไปประยุกต์ใช้
โครงการดังกล่าวดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 โดย มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 25 ราย มีอุตสาหกรรมแร่ที่ร่วมโครงการและได้รับโล่และเกียรติบัตร จำนวน 11 ราย สำหรับในปี 2554 ทางโครงการได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะมีอุตสาหกรรมแร่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ราย
ตัวอย่างอุตสาหกรรมแร่ที่ได้รับโล่และเกียรติบัตรปี 2553 คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เหมืองแม่เมาะ) จังหวัดลำปาง บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) จังหวัดสระบุรี บริษัท ผาแดงอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก
บริษัท เคมีแมน จำกัด จังหวัดสระบุรี บริษัท บ้านปูมินเนอรัล จำกัด จังหวัดลำพูน บริษัท จี สตีล จำกัด จังหวัดระยอง บริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด จังหวัดสระบุรี บริษัท ศิลาเลิศจิต จำกัด จังหวัดสระบุรี ห้างหุ้นส่วนจำกัด และโรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง จังหวัดขอนแก่น บริษัท ศิลาอารี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช
การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมแร่มีมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่ชัดเจนมากขึ้นและเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับโลกซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการการกีดกันที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) เข้ามาแทนที่ นอกจากนี้ สำหรับอุตสาหกรรมแร่ที่สนใจในการดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 26000 สามารถต่อยอดจากโครงการดังกล่าว โดยอาจใช้เวลาเพียงไม่นาน