1. เวิลด์แบงก์ชี้ราคาอาหารพุ่งสูงเป็นปัญหาใหญ่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
- ประธานธนาคารโลก แถลงการณ์โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจาก Food Price Watch ว่า ขณะนี้ ราคาอาหารโลกได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 10 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ ดังนั้นประชาคมโลกจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารเป็นอันดับแรก พร้อมกับเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่า ความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงาน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554 โดยการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารจากต้นทุนที่สูงขึ้นอาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง
นอกจากนี้ ยังส่งผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่า ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะทุเลาลง เนื่องจากรัฐบาลได้มีการใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซล ประกอบกับคาดว่า ธปท. อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งต้องติดตามในการประชุม กนง. ครั้งต่อไป ณ วันที่ 20 เม.ย. 54
2. ราคาทองคำพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
- สมาคมค้าทองคำประกาศราคาทองคำในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 300 บาท โดยราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 21,000 บาท ขายบาทละ 21,100 บาท หลังจากที่สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าส่งมอบเดือนมิ.ย. 54 ตลาด COMEX (Commodity Exchange) ในนิวยอร์ค ปรับตัวสูงขึ้น 13.6 ดอลลาร์ หรือร้อยละ 0.9 ปิดที่ 1,486 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทิศทางเดียวกับสัญญาซื้อขายโลหะเงินล่วงหน้า จากความกังวลเงินเฟ้อ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดโลก ส่วนนึงมาจากความกังวลด้านเงินเฟ้อ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนในเดือนมี.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน และสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ระดับร้อยละ 4
ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ดี (Inflation hedge) เมื่อความกังวลด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนจึงย้ายไปลงทุนในทองคำมากขึ้น และทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น อีกทั้งความไม่สงบในลิเบียและการประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของไอร์แลนด์โดยมูดีส์ ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
3. จีนยืนยันเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป
- ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนยืนยันว่า จีนจะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป แม้จีนได้ตัดสินใจปรับเพิ่มเพดานกันสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งแล้วก็ตาม ทั้งนี้ธนาคารกลางจีนประกาศเพิ่มเพดานกันสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อีกร้อยละ 0.50 โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 21 เม.ย.นี้เป็นต้นไป
ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ และจะทำให้เพดานกันสำรองเงินฝากของสถาบันการเงินรายใหญ่ของจีนพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 20.5 หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอีกร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การตัดสินใจดังกล่าวยังมีขึ้นหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.ของจีนพุ่งขึ้นร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นระดับสุงสุดในรอบ 32 เดือน และสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ร้อยละ 4
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในจีนและในประเทศต่างๆทั่วโลกเกิดจากการที่ราคาน้ำมันและวัตถุดิบโดยเฉพาะอาหารมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกลดลง (cost-push inflation) ทำให้ประเทศต่างๆต้องดำเนินนโยบายในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อไป สำหรับประเทศไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 54 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 3.1-4.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มึ.ค. 54)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง