Economic Indicators: This Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 2.9 สาเหตุหลักมาจากดัชนีราคาหมวดผักและผลไม้ขยายตัวสูง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตพืชผลทางการเกษตรลดลง
ประกอบกับดัชนีราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงขยายตัวสูงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และดัชนีราคาในหมวดอาหารสำเร็จรูปขยายตัวเร่งขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าวัตถุดิบ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.5 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไตรมาส 1 ปี 54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 และ 1.5 ตามลำดับ
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยหมวดสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 เป็นผลจากเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง เหล็กแผ่นเรียบดำ และท่อเหล็ก
ในขณะที่ดัชนีในหมวดซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 10.9 ซึ่งสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์แลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ขณะที่ดัชนีหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ขยายตัวร้อยละ 4.5 สินค้าสำคัญ เช่น บานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ไตรมาสแรกของปี 54 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.2
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค. 54 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 (หรือขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว) โดยได้รับปัจจัยบวกจากกำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง
อีกทั้งอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนยังขยายตัวต่อเนื่อง และจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 54 ขยายตัวในเกณฑ์ดี
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มี.ค. 54 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 72.0 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 72.2 โดยมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มราคาสินค้าในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกนง. และความกังวลจากผลกระทบของปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงปลายเดือนมี.ค. 54 อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีจะเป็นปัจจัยบวกให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในปี 54 ต่อไป
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง