ทีดีอาร์ไอ ชี้การวางผังเมืองเป็นการกำหนดทิศทางประเทศ เผยการใช้พื้นที่ของไทยยังน่าห่วง แนะเร่งจัดโซนนั่ง เกษตร - อุตสาหรรม
ทีดีอาร์ไอ ชี้การวางผังเมืองเป็นการกำหนดทิศทางประเทศ เผยการใช้พื้นที่ของไทยยังน่าห่วง แนะเร่งจัดโซนนั่ง เกษตร - อุตสาหรรม
การวางผังเมืองเป็นการกำหนดทิศทาง คาดการณ์อนาคตการเติบโตของประเทศทั้งในระดับประเทศ ภาค อนุภาค และจังหวัด ซึ่งมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่สาธารณชนควรรู้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทยว่าจะก้าวไปในทิศทางใด
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และ พัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่มีส่วนเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำผังประเทศและผังภาคของประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า
โดยทีดีอาร์ไอได้มีส่วนทำการศึกษาผังภาคภาคอีสาน ผังกลุ่มจังหวัดชายแดน (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และสระแก้ว) และกลุ่มจังหวัดร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์) พบข้อน่าห่วงใยหลายประการ โดยเฉพาะด้านการเกษตรซึ่งจะมีการแข่งขันกันใช้ที่ดินค่อนข้างสูง ควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกสำหรับพืชเกษตร 3 ส่วนหลักคือ พืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ พืชพลังงาน ซึ่งควรมีการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมและสมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและควรเน้นเป็นเกษตรปลอดภัย
โครงการศึกษาเพื่อจัดทำกรอบการพัฒนาและแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองชายแดน มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และสระแก้ว โครงการวางผังข้อมูลของกลุ่มจังหวัด “ร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์” คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นกรณีตัวอย่างของการศึกษาเพื่อการวางผังกลุ่มจังหวัดและเมืองชายแดนสำหรับอนาคตประเทศว่าควรดำเนินการในทิศทางใดจึงสอดคล้องกับศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่ มีการจัดทำแผนทั้งระยะสั้น(5 ปี) และแผนระยะกลาง (10-15 ปี )ที่ลงลึกถึงข้อมูลที่จำเป็น จัดทำฐานข้อมูลและกำหนดทิศทางการพัฒนาในรายละเอียด
ในส่วนของทีดีอาร์ไอดำเนินการในด้านเศรษฐกิจ ประเมินและมองทิศทางในอนาคต พบว่าต้องเป็นเศรษฐกิจแบบสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม( clean and green) คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์และปลอดภัย มีการจัดโซนนิ่งจัดพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมไม่ให้กระจัดกระจายโดยทำในลักษณะนิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก
มีการจัดการสภาพแวดล้อมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ทางการเกษตรที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติที่ใครมีที่ดินแล้วอยากทำอะไรก็ได้จนกระทบต่อโครงสร้างในการใช้ที่ดินซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเกษตรและเกษตรกรในภาพรวมในระยะยาว
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษาในภาคอีสานทั้งกลุ่มจังหวัดชายแดนและกลุ่มจังหวัด “ร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์” ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานศักยภาพของพื้นที่ โดยเน้นการประพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ในช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้ได้ภาพรวมด้านเศรษฐกิจ ที่ยังเน้นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย และยางพารา
ซึ่งการปลูกยางพาราในภาคอีสานปัจจุบันมีความน่าวิตกและเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่ยาวนาน จนอาจทำให้ยางที่มีอายุการปลูก 2-3 ปี ยืนต้นตายนับแสนไร่ได้ และอาจส่งผลกระทบไปยังนโยบายใหม่ ๆ ของรัฐที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกยางอีกกว่า 8-9 แสนไร่ในหลายพื้นที่ของภาคอิสาน
“ยางพาราเข้ามาในช่วงหลังและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีภาพรวมของภาคอีสานมีพื้นที่ยางพาราราว 1.5 ล้านไร่แล้ว แต่การปลูกยางพาราในภาคอีสาน แม้มีการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม แต่เมื่อเจอกับสภาพดิน(ไม่อุ้มน้ำ)และปัญหาความแห้งแล้งที่ยาวนาน(ต่างจากภาคใต้) ยางพาราเป็นพืชไม่มีรากแก้วจึงไม่สามารถดูดซับน้ำใต้ดินได้ลึกมากนัก ในกรณีที่มีภาวะแห้งแล้งมากกว่าปกติ อีกทั้งการกระจายของฝนก็ยังสู้ภาคใต้ไม่ได้”
นอกจากนี้ การแข่งขันกันในเรื่องการผลิตพืชอาหาร พืชอาหารสัตว์ และพืชพลังงาน ต้องมีการจัดการให้สมดุล เพราะการมีพืชชนิดใด ชนิดหนึ่งมาก ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อใช้ประโยชย์จากพืชอื่น จึงต้องมีการวางแผนการจัดแบ่งพื้นที่การปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานให้สมดุล ไม่ใช่ใครมีที่ดินแล้วอยากปลูกอะไรก็ปลูกโดยดูราคาในปัจจุบันเป็นหลัก แล้วก็ไปเสี่ยงต่อภาวะผลผลิตล้นตลาดราคาถูกเอาเองในอนาคตหรืออาจจะเกิดการขาดแคลนผลผลิตพืชบางตัวเช่นพืชอาหารสัตว์อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกพืชหลักของภาคอีสานคือ ข้าว มันสำปะหลังและอ้อยจะยังถูกแย่งพื้นที่กันเองและต้องแข่งกับยางพาราและปาล์ม
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า การศึกษามีการกำหนดยุทธศาสตร์ตามศักยภาพความโดดเด่นของพื้นที่ในด้านต่าง ๆ เช่น เน้นการเป็นประตูการค้า อุตสาหกรรมที่สนับสนุนสินค้าที่จะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงอินโดจีน และจีนตอนใต้ เน้นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ภาคเกษตรยังเป็นส่วนสำคัญใหญ่สุดและควรสนับสนุนไว้ พร้อมกับแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ ภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับเกษตร และปัญหาสภาพดินเสื่อมคุณภาพและดินเค็ม
สิ่งที่งานศึกษาเสนอ คือ ฐานรายได้ของคนยังต้องเน้นเรื่องความแข็งแกร่งในด้านเกษตรเป็นหลัก ส่วนอุตสาหกรรมมีไม่มากและไม่เน้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เน้นเรื่องการบริการและการค้าชายแดนเป็นหลัก เรื่องการท่องเที่ยวในอีสาน ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ให้มีการพักค้างแรมในพื้นที่และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างในพื้นที่และพื้นที่ข้างเคียงจัดรูปแบบการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาท่องเที่ยวได้เต็มวัน เต็มเวลา ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น การท่องเที่ยวอิงธรรมชาติ การทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น
หากมองลึกในด้านเศรษฐกิจ จะเป็นอุตสาหกรรมการค้าและบริการเป็นหลัก ต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตพอสมควร เช่นการเกษตรต้องปรับใช้พืชพันธุ์ดีในการปลูก ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เน้นการทำเกษตรปลอดภัยมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร อุตสาหกรรมในภาคอีสานควรเป็นอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ผลิตสินค้าที่มีน้ำหนักเบา สะดวกในการขนย้าย เน้นส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ในแง่การแข่งขันซึ่งประเทศไทยส่งออกสินค้าจำนวนมากมีสัดส่วนสูงราว 68%ของจีดีพี แต่มีปัญหาประสิทธิภาพการแข่งขันที่ถดถอยลงไปมาก เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ จุดอ่อนอยู่ที่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ เราติดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามานานมากแล้ว
แต่การก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ใช้จุดแข็งสิ่งที่เรามี คือ ฐานการผลิตด้านเกษตรเป็นตัวนำ เช่น เราส่งออกข้าวออกมากที่สุดในโลกโดยเฉพาะข้าวคุณภาพดี อย่างข้าวหอมมะลิ ไทยจะต้องใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวให้มากขึ้น
“ทีนี้ก็มีปัญหาว่าในแง่ผังประเทศควรกำหนดว่าพื้นที่ปลูกข้าว 80 ล้านไร่นั้น จะต้องอนุรักษ์ไว้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวถูกรุกรานหลายอย่าง เราเสนอว่าในแง่ผังเมืองควรมีการจัดโซนสำหรับการปลูกข้าวเฉพาะ ต่อไปเราควรต้องมาคิดกันเรื่องพื้นที่ปลูกข้าวอย่างจริงจัง ว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะสมกับการปลูกอะไร”
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำโซนนิ่งดังกล่าว หากทำตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นผลดีกับประเทศและเรื่องนี้สามารถทำได้ตลอด ตามขีดความสามารถที่จะรองรับ แม้บางช่วงจะมีปัญหาการเมืองมาสะดุดทำให้ล่าช้า แต่ก็ต้องทำต่อไป สำหรับในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า สิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปแน่ ๆ และต้องมีการจัดการให้สมดุลคือ การแบ่งพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารคน อาหารสัตว์ และพืชพลังงาน
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำเรื่องการกำหนดผังประเทศ ผังภาค และอนุภูมิภาคคือ สภาพัฒน์ฯและกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนใหญ่สภาพัฒน์ฯจะเน้นในภาพรวมระดับประเทศ ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีการทำผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภูมิภาค และผังกลุ่มจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการความก้าวหน้ามากที่สุด โดยเป็นการมองไปในอนาคตข้างหน้าถึง 50 ปีซึ่งหน่วยงานทั้งสองนี้ควรจะต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทางของประเทศในระยะยาวก่อนที่จะสายเกินแก้.
ที่มา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย