1. กบง.ไฟเขียวชดเชยดีเซลเพิ่ม 30 สต./ลิตร
- รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เปิดเผยมติประชุมในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 13/ 2554 ให้เพิ่มเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซล 30 สตางค์ต่อลิตร เพื่อคงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบกับความต้องการน้ำมันเพื่อใช้ในการทำความร้อนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ภัยพิบัติแผ่นดินไหว และ สึนามิในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความต้องการน้ำมันทดแทนการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในขอบเขตที่จำกัด
จากความไม่สงบของสถานการณ์ความไม่สงบดั่งกล่าว ส่งผลให้ตุ้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศมีแนวโน้มปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยที่อัตราเงินเฟ้อ ณ ก.พ. 54 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ในปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.1 - 4.1 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54) ซึ่งโดยปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ มีเงินสุทธิเหลือประมาณ 12,000 ล้านบาท ณ อัตราก่อนปรับชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5.1 บาท/ลิตร
2. ครม.เทงบ 4.5 พันล้านบาท ช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้
- คณะรัฐมนตรี (วันที่ 4 เม.ย. 54 ) มีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,500 ล้านบาทเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยงบประมาณแบ่งออกเป็นการช่วยเหลือครัวเรือนรายละ5,000 บาท จำนวน 2.9 พันล้านบาท และช่วยเหลือภาคเกษตรกรจำนวน 1.6 พันล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้คาคว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านภาคการเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ภาคการผลิตอื่นๆและการท่องเที่ยว จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ การที่ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 4,500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้นั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว ยังช่วยประคับประคองให้การบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 54 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และยอดขายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 10.0 และ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
3. อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตในยุโรปเร่งตัวในอัตราร้อยละ 6.6 จากผลของน้ำมัน
- อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตในยุโรปเร่งตัวในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี ในเดือน ก.พ. 54 โดยมีปัจจัยหลักจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น และกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยราคาสินค้าหน้าโรงงานผลิต (Factory-gate prices) ทะยานขึ้นร้อยละ 6.6 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับจาก ก.ย.51 หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นร้อยละ 21 ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน
ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นภายหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง ทั้งนี้ นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธาน ECB เผยว่าผู้กำหนดนโยบายมีความกังวลว่า ECB จะไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางราคาในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตจะต้องส่งผ่านภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคเพื่อคงกำไรไว้
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดังกล่าว ส่งผลต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในยุโรป และสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ ECB กำหนดไว้(Inflation Targeting) ไม่ให้เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดย ECB มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นการเพิ่มของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของยุโรปจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของประเทศหลักในเขตยูโรโซน เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ เศรษฐกิจในรอบนอกเขตยูโรโซน เช่น กรีซ โปรตุเกส ยังคงประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง