เนื้อหาวันที่ : 2011-04-04 14:37:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 981 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 4 เม.ย. 2554

1. พาณิชย์ปรับเป้าส่งออกปี 54 ขยายตัวร้อยละ 12
-  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 54 เพิ่มเป็นขยายตัวร้อยละ 12 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมตั้งเป้าไว้ร้อยละ 10 เนื่องมาจากการขยายตัวของตลาดในต่างประเทศที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวได้ดีจากการค้าชายแดน โดยปีนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าการค้าชายแดนขยายตัวร้อยละ 22 หรือมูลค่า 9 แสนล้านบาท

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 54 การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยหากหักทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 23.2 และแนวโน้มการส่งออกยังคงอยู่ในระดับดี โดยในเดือนก.พ.54 มูลค่าส่งออกอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18,868 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 54 ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างๆได้ดีและมีการขยายตัวในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ขยายตัวร้อยละ 21.7 34.1  20.4 และ 21.0 ตามลำดับ อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาค ได้แก่ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ก็ขยายตัวดีที่ร้อยละ 83.3 42.8 38.2 และ 23.8 ตามลำดับ จึงเป็นสัญญาณว่าการส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่สดใสและอัตราการขยายตัวน่าจะสูงกว่าเป้าเดิม

2. ธปท. ชี้ธุรกิจรายใหญ่ดันสินเชื่อแบงก์ ก.พ.54 พุ่งร้อยละ 15
-  ธปท. เผยยอดปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์เดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.5 โดยเติบโตทั้งในส่วนสินเชื่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 และภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี

ขณะที่หนี้ต่างประเทศเดือน ม.ค.54 พุ่งแตะ 9.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในส่วนของเงินฝากสถาบันการเงินรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) เดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของแบงก์พาณิชย์ใน เดือน ม.ค.54 อยู่ที่ร้อยละ 16 ลดลงเล็กน้อยจาก ธ.ค. 53

-  สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงสะท้อนเสถียรภาพของแบงก์พาณิชย์ที่ยังคงแข็งแกร่งและมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจได้ ปัจจัยหลักเนื่องจากยังคงมีเงินกองทุนในสัดส่วนที่สูงกว่าที่ BIS กำหนดไว้

โดยกำหนดสัดส่วนการสำรองหนี้เสียให้สถาบันการเงินมีไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 ของสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสียงที่ต้องติดตามทั้งภายในและนอกประเทศ จากภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ ธปท. ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการขอสินเชื่อ

ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้าย และปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ทั้งแบงก์พาณิขย์และภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

3. ข้อมูลเศรษฐกิจเอเชียเดือน มี.ค. สะท้อนการเจริญเติบโต
-  เศรษฐกิจเอเชียในเดือน มี.ค. 54 เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ สะท้อนว่าธนาคารกลางในภูมิภาคนี้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Managers’ Index) ของจีน ณ วันที่ 1 ก.พ. 54 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกของเกาหลีใต้และอินโดนีเซียดีเกินคาด

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียสะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในบางประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4 ปี 53 ว่าขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และอินโดนีเซียที่ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง