โจนส์ แลง ลาซาลล์ เผยการปรับปรุงอาคารให้รับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นสามารถทำได้ หากเจ้าของยอมลงทุน
โจนส์ แลง ลาซาลล์ เผยการปรับปรุงอาคารให้รับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นสามารถทำได้ หากเจ้าของยอมลงทุน
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ญี่ปุ่นและพม่า ทำให้มีคำถามตามมาว่า อาคารต่างๆ ในประเทศไทยมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด นายไมเคิล ถัง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการบริหารโครงการก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งจากบริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ ในประเทศไทย กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ อาคารสูงสมัยใหม่ในไทยได้รับการออกแบบให้สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวที่มีความแรงได้มากถึง 5 ริคเตอร์ โดยบางอาคารอาจได้รับการก่อสร้างให้มีความแข็งแรงเกินเผื่อไว้อีก ซึ่งหมายถึงความสามารถในการรับแรงแผ่นดินไหวที่สูงมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง อาคารขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก บางอาคารยังคงอาจมีความเสี่ยง ทั้งนี้ ทางเดียวที่จะทำให้อาคารเหล่านี้มีความปลอดภัยมากขึ้นจากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหว คือการปรับปรุงอาคาร ดาวน์โหลดภาพใหญ่
“โดยหลักๆ การปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิมให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้น คือการปรับปรุงโครงสร้างของอาคารให้มีความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความไม่ปลอดภัยและความสูญเสียที่เกิดจากการพังตัวลงขององค์ประกอบอื่นๆ ของตัวอาคารในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก” นายไมเคิลกล่าว
“อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีเทคโนโลยีการปรับปรุงอาคารที่สามารถป้องกันอาคารจากผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การที่เจ้าของอาคารจะต้องการลงทุนมากน้อยเพียงใดในการปรับปรุงอาคาร อาจขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่อาคารตั้งอยู่ ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวในระดับที่แตกต่างกันไป”
มาตรฐานวิศวกรรมรองรับแรงแผ่นดินที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา (Performance Based Earthquake Engineering: PBEE) แบ่งการปรับปรุงอาคารออกเป็น 4 ระดับ ตามแต่วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงอาคาร ได้แก่ 1) เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน 2) เพื่อให้โครงสร้างอาคารยังคงอยู่ได้ 3) เพื่อให้อาคารยังคงใช้งานได้ และ 4) เพื่อให้โครงสร้างอาคารไม้ได้รับผลกระทบใดๆ เลย
ในทั้งสี่ระดับ การปรับปรุงอาคารที่มีการทำกันมากที่สุดคือ เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน ซึ่งหมายถึงการป้องกันความสูญเสียต่อชีวิต โดยหลักๆ คือการให้มั่นใจว่า อาคารจะไม่พังถล่มลงมาทับผู้อยู่ในอาคารหรือผู้ที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณใกล้เคียง โดยตัวอาคารจะยังคงสามารถตั้งอยู่ได้ให้ผู้ที่อยู่ในอาคารจะสามารถอพยพออกมาได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง อาคารเหล่านี้ อาจไม่สามารถปรับปรุงให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก และอาจต้องรื้อทิ้ง
การปรับปรุงอาคารในระดับต่อมาคือ การปรับปรุงให้โครงสร้างยังคงอยู่ได้ โดยหลักๆ คือการให้โครงสร้างอาคารมีความแข็งแรง ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายจากแรงแผ่นดินไหว ตัวอาคารจะยังคงตั้งอยู่ได้และมีความปลอดภัยพอที่จะให้ผู้อยู่ในอาคารอพยพออกมาได้ และหลังจากนั้น อาจต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมใหญ่ก่อนที่จะสามารถกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
การปรับปรุงอาคารอีกระดับหนึ่ง คือการปรับปรุงให้อาคารแข็งแรงในระดับที่จะเกิดความเสียหายต่ออาคารน้อยที่สุดในกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยอาคารจะยังคงสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการปรับปรุงอาคารแบบนี้ เป็นการปรับปรุงระดับสูง โดยหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรง อาคารจะต้องการการซ่อมแซมเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
การปรับปรุงอาคารระดับสูงสุด คือการปรับปรุงให้แข็งแรงมากพอที่จะไม่ได้รับความเสียหายเลยจากแรงแผ่นดินไหว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีการปรับปรุงอาคารที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม
นายไมเคิลกล่าวว่า “เทคนิคการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับอาคารมีหลายหลายวิธี นังตั้งแต่การเสริมโครงสร้าง เทคนิคการให้อาคารสามารถเลื่อนไปมาบนฐานรากได้ตามแรงไหวของพื้นดิน (base isolator) ระบบการปรับสมดุลย์อาคารโดยอัตโนมัติ (active control system) การยึดจุดเชื่อมต่อต่างๆ ของโครงสร้างอาคารจากภายใน การรัดตัวอาคารจากภายนอก และอื่นๆ
ซึ่งในปัจจุบัน มีการปรับปรุงอาคารเก่าให้รับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการปรับปรุงอาคารในลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตามกฎหมาย แต่มีแรงจูงใจหลักด้านส่วนค่าธรรมเนียมประกันภัยอาคาร กล่าวคือ หลังการปรับปรุงอาคาร เจ้าของอาคารจะจ่ายค่าประกันภัยอาคารถูกลง”
“แน่นอนว่า การปรับปรุงอาคารย่อมมีค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าของอาคารจะลงทุนปรับปรุงอาคารหรือไม่มากน้อยเพียงใด คงขึ้นอยู่กับว่าต้องการสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยในระดับใด และมีความพร้อมในการลงทุนมากน้อยเพียงใด” นายไมเคิลกล่าวสรุป