1. หวั่นเงินเฟ้อ ยอดใช้เครดิตการ์ดลดฮวบ
- ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานยอดการให้บริการบัตรเครดิตทั้งระบบ งวดเดือน ม.ค. พบว่า บัตรเครดิตทั้งระบบมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งสิ้นแค่ 9.87 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเดือนธ.ค. 2553 ถึง 2.08 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.44 จากเดือนธ.ค. ของปีก่อนที่เคยมียอดการใช้จ่ายถึง 1.19 แสนล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านทางบัตรเครดิตที่ลดลงมีสาเหตุมาจากภาคครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าอาจจะแพงขึ้นอีก ประกอบกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งสัญญาณผ่านทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้ออีกร้อยละ 0.25 เป็น ร้อยละ 2.5 ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและจีดีพีไทยปี 54
นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยเสริมจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง และภัยพิบัติในญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคของไทยอีกด้วย ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. 54 นี้
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคายางแผ่นปี 54 เฉลี่ยอยู่ที่ 120-130 บาท/กก.
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ทั้งปี 54 น่าจะยังอยู่ในระดับ 120-130 บาทต่อกก. เมื่อเทียบกับปี 2553 แล้วขยายตัวร้อยละ 8.3-17.3 แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ราคาอาจจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากมีผลผลิตเข้าสู่ตลาด
โดยคาดการณ์ว่าในปี 54 ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณการผลิต รวมทั้งคาดการณ์ว่าจีนจะกลับเข้ามาซื้อยางพารา อันเป็นผลจากสต็อกยางพาราของจีนเริ่มลดลง ซึ่งการเข้ามาซื้อยางพาราของจีนนับว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้ราคายางพาราในประเทศมีแนวโน้มผันผวนขึ้นลงตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคายางพาราในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 54 ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ระดับ 159.7 บาทต่อกก. คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 75.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยพิบัติในญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้ายางพาราอันดับต้นๆของโลกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้ราคายางพาราในช่วงเดือนมี.ค. มีความผันผวนสูง
ทั้งนี้ ปัญหาอุทกภัยในภาคใต้จะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในระยะสั้นนี้ได้ โดยในระยะต่อไป ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือสต็อกยางพาราของจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 31.0 ของมูลค่าส่งออกยางพาราในปี 53) ตลอดจนการแข่งขันจากเวียดนาม อาจส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในประเทศได้
3. ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ OPEC ประกาศไม่เพิ่มกำลังการผลิต
- รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิหร่านและประธานกลุ่มโอเปกคนปัจจุบัน เปิดเผยว่า จะไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบแม้ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นเป็นเพราะวิกฤตการณ์ทางการเมืองในหลายประเทศในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง อีกทั้งเป็นเพราะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กเมื่อ 25 มี.ค. 54 ขยับลง 0.20 ดอลลาร์สหรัฐ จากวันก่อนหน้า ปิดการซื้อขายที่ระดับ 105.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สศค. วิเคราะห์ว่า ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลงโดยเร็ว และจากความต้องการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 54 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 18.88 โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 99.88 ดอลลาร์สวหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้แบบจำลองเศรษฐกิจของสศค. ได้ศึกษาความสัมพันธ์ (sensitivity analysis) พบว่าหากราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้ GDP ลดลงร้อยละ 0.07 จากกรณีฐาน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง