เนื้อหาวันที่ : 2011-03-28 09:00:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3308 views

GUNKUL คว้างานสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เริ่มก่อสร้างเม.ย.นี้

GUNKUL มือขึ้นคว้างานสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มูลค่า 800ล. เริ่มลงมือก่อสร้าง เม.ย.-ต.ค.54 ตั้งเป้าขึ้นแท่นผู้นำอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

GUNKUL มือขึ้นคว้างานสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มูลค่า 800ล. เริ่มลงมือก่อสร้าง เม.ย.-ต.ค.54 ตั้งเป้าขึ้นแท่นผู้นำอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง มือขึ้น คว้างานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 8 เมกกะวัตต์ของ "โซลาร์ต้า" มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท เริ่มลงมือก่อสร้าง เมษายนนี้และกำหนดแล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2554 พร้อมรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่ไตรมาส 2/2554

โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ เผยจุดเด่นอยู่ที่การเป็นผู้ ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อน และสามารถทำงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทั้งหมด เผยเป้าหมายอนาคตขอขึ้นแท่นผู้นำอุตสาหกรรมด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมมั่นใจรายได้ปีนี้จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 90% จากปีที่ผ่านมา

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่าบริษัทได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงการจ้างในโครงการก่อสร้างโรงผลิต ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับ บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 8 เมกกะวัตต์ บนพื้นที่กว่า 180 ไร่ ในจังหวัดสุพรรณบุรี คิดเป็นมูลค่ารวมในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 800 ล้านบาท (บริษัท โซลาร์ต้า จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ยันฮี โซล่าเพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATH) ซึ่งถือหุ้นใน สัดส่วนร้อยละ 49)

สำหรับการก่อสร้างดังกล่าว GUNKULจะเป็นผู้ดำเนินการรับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการทั้งหมด อาทิ การก่อสร้างงานด้านฐานราก การจัดหาแผงโซลาร์เซลล์ การคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะใช้กับโรงไฟฟ้า และการติดตั้งระบบทั้งหมด จนกระทั่งสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนเมษายนนี้และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2554

"สาเหตุที่GUNKUL ได้รับความไว้วางใจจากโซลาร์ต้า ให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะมีจุดเด่นในหลายด้าน ทั้งที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ GUNKUL ยังถือเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนรายแรกๆ ของประเทศ

โดยปัจจุบันยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเฟสแรกมีกำลังการผลิต 3 เมกกะวัตต์ สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้น่าจะถือว่าเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งหนึ่งก็ว่าได้ โดย GUNKUL เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกเแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมเทคโนโลยีที่เหมาะสม และที่น่ายินดีคือสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้มากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้กว่า 10% ”

กรรมการผู้จัดการ GUNKUL กล่าวต่อว่า ช่องทางในการสร้างรายได้จากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีโอกาสที่จะเติบโตอีกมากในอนาคต เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วจำนวนกว่า 500 เมกกะวัตต์

แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ไม่ถึง 50 เมกกะวัตต์ ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสที่ดีของ GUNKUL ในการสร้างฐานรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก ที่สำคัญการเกิดระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นทำให้หลายฝ่ายต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าว ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกัน GUNKUL ก็มีเป้าหมายในอนาคตที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการสำรองไฟฟ้าของประเทศอย่างจริงจัง เพราะยิ่งมีผู้ผลิตไฟฟ้าทางเลือกมากขึ้นเท่าใดจะยิ่งเป็นประโยชน์กับประเทศมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้บริษัทได้ยื่นประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ไปแล้วจำนวน 7 โครงการ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของโซลาร์ต้าขนาด 8 เมกกะวัตต์นี้ ถือเป็นโครงการแรกที่ GUNKUL ประมูลได้ ส่วนโครงการที่เหลือปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาด้านเทคนิค คาดว่าจะทราบผลการประมูลเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนขนาด 8 เมกะวัตต์ ยังไม่นับรวมอยู่ในเป้าหมายรายได้ปี 2554 ของ GUNKUL ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 90% จากปี 2553 ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจเดิม คือ ธุรกิจการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 50% และจากธุรกิจพลังงานทด แทนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 30%

โดยขณะนี้ในส่วนของธุรกิจพลังงานทดแทนบริษัทได้รับสัญญาซื้อขายไฟแล้วทั้งสิ้น 56.9 เมกกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมประมาณ 5,600 ล้านบาท ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีงานที่อยู่ในมือ (Backlog) แล้วจำนวนกว่า 800 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทยังคงเดินหน้าประมูลงานอย่างต่อเนื่อง