นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเปิดสัมมนาเรื่อง “ถิ่นกำเนิดสินค้าและมาตรการตอบโต้ทางการค้า” ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมคามิโอเฮ้าส์ จ. ระยอง เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ว่าปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศ มีการเปิดเสรีกันอย่างแพร่หลายส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น ประเทศต่างๆ ได้นำมาตรการทางการค้ามาใช้ปกป้องผลประโยชน์ของตนในหลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี อาทิ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti Dumping : AD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG )
การใช้มาตรการดังกล่าวกับประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียทำให้ประเทศที่ถูกใช้มาตรการทำการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย เพื่อหลบเลี่ยงการถูกใช้มาตรการซึ่งส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้สินค้าไทยตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือถูกกำหนดมาตรการตอบโต้ และอาจถูกกักกันสินค้าทำให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการส่งออกของไทย
กรมการค้าต่างประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ จึงได้ดำเนินการป้องกันการถูกแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะถูกแอบอ้างถิ่นกำเนิดฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่หลบเลี่ยงการถูกใช้มาตรการ
โดยดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของถิ่นกำเนิดสินค้าย้อนหลังรวมทั้งการเจรจาหารือให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง กรณีสินค้าส่งออกของไทยถูกศุลกากรประเทศปลายทางตรวจสอบความถูกต้องของถิ่นกำเนิดสินค้าย้อนหลังซึ่งช่วยให้สินค้าไทยหลายรายการ เช่น รถยนต์ รถจักรยาน สิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์นม หลอดไฟฟ้า เป็นต้น รอดพ้นจากการถูกใช้มาตรการทางการค้า รวมทั้งยังสามารถรักษาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรไว้ได้
อย่างไรก็ตาม การปกป้องผลประโยชน์ดังกล่าว มิอาจสำเร็จลงได้หากปราศจากความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดังนั้น การเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น และโดยที่จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่มีผู้ประกอบการผลิต และส่งออกจำนวนมาก จึงได้พิจารณาจัดสัมมนา ณ จังหวัดนี้
ซึ่งผลจากการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีการค้าโลกแบบครบวงจร นับแต่การใช้มาตรการทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำไปสู่การแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ความสำคัญของถิ่นกำเนิดฯ และการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าในการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการผลิตสินค้าเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่านอกเหนือจากการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่ทำให้มีการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้ามากขึ้นแล้ว การขยายตัวของ FTA ที่มีการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษฯ ทำการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย
ดังนั้นผู้ประกอบการของไทย จึงต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ถึงกระบวนการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าในเวทีการค้าโลก และแนวทางป้องกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตน ทั้งนี้ในปี ๒๕๕๔ กรมการค้าต่างประเทศมีโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการถูกแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านการสัมมนาที่กำหนดจัดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค