เนื้อหาวันที่ : 2011-03-24 09:53:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1713 views

กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เสี่ยงเจอภาวะเงินเฟ้อจากการขึ้นค่าแรง

แกรนท์ ธอร์นตัน เตือนละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเจอภาวะเงินเฟ้อ หลังมีแนวโน้มเพิ่มค่าแรงพนักงานอัตราสูงในปีนี้

แกรนท์ ธอร์นตัน เตือนละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเจอภาวะเงินเฟ้อ หลังมีแนวโน้มเพิ่มค่าแรงพนักงานอัตราสูงในปีนี้

กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งได้แก่ ละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมจ่ายค่าแรงพนักงานในอัตราที่สูงขึ้นในปีนี้ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ The Grant Thornton International Business Report (IBR) ล่าสุด

ส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูลการสำรวจคือการสอบถามธุรกิจเอกชน (Privately Held Business) จำนวน 5,700 บริษัทจาก 39 กลุ่มเศรษฐกิจทั่วโลกถึงอัตราการเพิ่มค่าแรงในปี 2011 (หากว่าบริษัทมีการวางแผนไว้) โดย 23% ของเจ้าของกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (25% ในประเทศไทย) วางแผนเพิ่มค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และ 17% ของเจ้าของกิจการในละตินอเมริกาก็มีแผนการเช่นเดียวกัน

เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ลูกจ้างที่ประสงค์จะได้รับค่าแรงสูงขึ้นควรหันมามองประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือละตินอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะได้รับการขึ้นค่าแรงให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ อันอาจมีสาเหตุมาจากตลาดแรงงานที่มีอยู่จำกัด โดยแรงงานที่มีฝีมือนั้นมีอยู่ไม่มากนักแต่เป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศเหล่านี้ ดังนั้น สำหรับผู้จ้างงานแล้ว แรงงานที่มีฝีมือจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง เห็นได้จากการวางแผนขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูงมาก”

“ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของภูมิภาคเหล่านี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเศรษฐกิจของบราซิลมีการเติบโตเกือบ 8% เมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนมาเลเซียและไทยขยายตัวราว 7% ทั้งนี้ เมื่อ GDP สูงขึ้น เจ้าของกิจการก็สามารถขึ้นค่าแรงให้แก่พนักงานได้”

“อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้เป็นที่น่าหวั่นเกรงสำหรับรัฐบาล เพราะการที่เจ้าของธุรกิจยังคงยินดีที่จะขึ้นค่าแรงครั้งใหญ่จะเพิ่มความกดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศในขณะเดียวกัน เนื่องจากว่าอยู่ระหว่างการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 5% เมื่อปีที่แล้ว, อาร์เจนตินาเป็น 10.5%, และสิงคโปร์มีการดีดตัวขึ้นจาก -0.5% เป็น 4.6% ดังนั้น รัฐบาลในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องแน่ใจว่าจะไม่ตกอยู่ในวงจรของปัญหาราคาสินค้าและค่าแรงที่สูงขึ้น”

ข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน เผยว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว มีเพียง 11% ของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรและเจ้าของกิจการชาวยุโรปที่วางแผนขึ้นค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี มีเพียงหนึ่งในห้าโดยประมาณ (18%) ของเจ้าของกิจการในอเมริกาเหนือที่วางแผนดังกล่าวไว้

การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือยังคงเป็นปัญหาในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่
รายงานดังกล่าวยังเปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับภูมิภาคแล้ว มีจำนวน 42% (เพิ่มสูงขึ้น 17% จากปีที่แล้ว) ของธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) เชื่อว่าการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือจะเป็นข้อจำกัดของธุรกิจในการขยายตัวในปีนี้ และเป็นข้อจำกัดที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดต่อการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่วนในละตินอเมริกาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดย 43% (เพิ่มสูงขึ้น 20% จากปีที่แล้ว) ของธุรกิจระบุว่าการขาดแคลนแรงงานฝีมือเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของกิจการ

เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายประเทศ เจ้าของธุรกิจในอินเดีย (51%) และบราซิล (49%) มีความกังวลว่าการขาดแคลนแรงงานฝีมือจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของธุรกิจในปีนี้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในจีน (40%), ไทย (46%) และแอฟริกาใต้ (37%) เช่นเดียวกัน

เอียน แพสโค กล่าวเสริมว่า “การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือจะส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงในประเทศไทยด้วย ความต้องการแรงงานที่มีฝีมืออย่างยิ่งยวดนั้นส่งผลต่อการขึ้นค่าจ้าง และส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันธุรกิจลดลง”

“ข้อจำกัดในเรื่องแรงงานดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการว่าจ้างแรงงานทั้งที่มีฝีมือและด้อยฝีมือจากต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีการใช้แรงงานชาวพม่าเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาระยะยาว รัฐบาลจะต้องเน้นแก้ปัญหาด้านการศึกษา ต้องให้การอบรมทักษะฝีมือแก่ประชากรเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ”

ที่มา : แกรนท์ ธอร์นตัน